นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่าในฤดูฝนทุกปี มีหลายโรคที่มีแนวโน้มพบมากขึ้น เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก รวมทั้งโรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน นอกจากหนูที่เป็นตัวการหลักในการแพร่เชื้อแล้ว ยังพบว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข สุกร โค กระบือ แมว แพะ แกะ ก็แพร่เชื้อได้เช่นกัน เชื้อโรคนี้จะออกมาพร้อมกับฉี่ของสัตว์ดังกล่าว แต่พบได้น้อยกว่าหนู โดยเชื้อโรคฉี่หนู สามารถเข้าสู่ร่างกายโดยไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานานจนอ่อนนุ่ม และติดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไปก็ได้ ผู้ที่ได้รับ เชื้ออาจมีหรือไม่มีอาการก็ได้ ในผู้ที่มีอาการมักแสดงหลังจากได้รับเชื้อ 2-3วัน จนถึง 2-3 สัปดาห์
นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า อาการที่สำคัญของโรค คือ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาอย่างมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร เป็นต้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน คือตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย หรืออาการทางสมองและระบบประสาท อาจถึงตายได้ โดยอัตราการตายอาจสูงถึงร้อยละ10-40 หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้สงสัยไว้ ก่อนว่าอาจเป็นโรคฉี่หนู และให้รีบไปพบแพทย์ เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหายขาดได้ อย่าซื้อยารับประทานเอง
ในการป้องกันโรคไข้ฉี่หนูในช่วงหน้าฝน ซึ่งบางพื้นที่อาจมีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม มีคำแนะนำดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ที่มีปัญหามึนชาที่เท้า ต้องระมัดระวังเป็น พิเศษ เนื่องจากอาจมีแผลที่เท้าและไม่รู้สึกเจ็บ มีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง 2. ผู้ที่ต้องทำงานที่เสี่ยงต่อโรค เช่น ชาวสวน ชาวนา คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ ขอให้สวมถุงมือยาง ใส่รองเท้าบู๊ทยาง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ 3.หมั่นล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายหลังจากเสร็จภารกิจทำงาน 4. กำจัดขยะในบ้านเรือน สถานที่ทำงานให้สะอาด โดยเฉพาะเศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู และ 5. ดื่มน้ำต้มสุกและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกร้อนใหม่ๆ ประชาชนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค หมายเลข 1422. นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit