ทีเอ็นเอส บริษัทวิจัยระดับโลกเผย “Screen-stacking” พฤติกรรมการใช้สื่อหลายหน้าจอในเวลาเดียวกัน ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ครอบคลุมเกือบครึ่งของผู้บริโภคทั่วโลก รวมถึงมากกว่า 3 ใน 5 ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทย

21 Jul 2014
ทีเอ็นเอส เผยเกือบครึ่งหนึ่ง (48%) ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกมีพฤติกรรม“Screen-Stacking หรือ Multi-Screening” ใช้สื่อหลายหน้าจอในเวลาเดียวกัน ไม่เว้นแม้แต่กว่า 66% ของชาวเน็ตในไทย สาเหตุเนื่องมาจากผลพวงกระแสดิจิตอลมาแรงในขณะที่อิทธิพลสื่อโทรทัศน์ยังมีบทบาทสำคัญทั่วโลก

ทีเอ็นเอส บริษัทให้คำปรึกษาและข้อมูลการตลาดยักษ์ใหญ่ของโลกเผยผลสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคดิจิตอลทั่วโลก หรือ คอนเน็คเท็ดไลฟ์ 2014 (Connected Life) ที่ศึกษาพฤติกรรมกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 55,000 คนใน 50 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า เกือบครึ่ง (48%) ของนักท่องเน็ตทั่วโลกยอมรับว่าตนเองมีพฤติกรรม “screen-stacking หรือ การใช้สื่อหลายหน้าจอในเวลาเดียวกัน” มากเป็นพิเศษในช่วงเวลาเย็นของทุกวัน โดยการรับชมโทรทัศน์ในช่วงเย็นพร้อมๆกันไปกันกับกิจวัตรออนไลน์รูปแบบต่างๆ อาทิ ใช้งานโซเชียลมีเดียอื่นๆอย่าง เฟซบุ๊ค แชต เช็คอีเมล หรือแม้กระทั่งช้อปออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาอาหารเย็นที่ผู้คนจดจ่ออยู่กับการรับประทานอาหาร ไม่สะดวกในการใช้นิ้วหรือมือสั่งงานอุปกรณ์ดิจิตอลทีเรียงรายรอบตัวเท่าเวลาปกติ นำโดยกลุ่มประเทศในเอเชียที่กว่า 54% ของนักท่องเน็ตเอเชียมีพฤติกรรมการใช้สื่อหลายหน้าจอในเวลาเดียวกัน โดยสัดส่วนพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นอย่างหลากหลายตามแต่ละประเทศในภูมิภาคเดียวกัน สูงที่สุดคือ 79% ในประเทศญี่ป่น และ ต่ำที่สุดในภูมิภาคคือ 37% ในประเทศจีน ส่วนนักท่องเน็ตชาวไทยพบว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวอยู่ในระดับค่อนข้างสูงคือ 66%*

จากการสำรวจพบว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดพฤติกรรมผู้บริโภคแบบมัลติสกรีน หรือ การใช้สื่อหลายหน้าจอในเวลาเดียวกัน ที่เกิดขึ้นกับเกือบครึ่งหนึ่งประชากรผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใน 50 ประเทศหลักๆทั่วโลกนั้น เป็นผลมาจาก (1) สื่อโทรทัศน์ยังมีอิทธิพลสำคัญต่อ 3 ใน 4 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก (2) เทคโนโลยีกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมและความต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสารหรือเนื้อหาต่างๆในเชิงรุกมากขึ้น การรอรับชมโทรทัศน์ปกติจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการอีกต่อไป และ (3) อัตราการครอบครองอุปกรณ์ดิจิตอลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อคนที่สูงขึ้น

สื่อโทรทัศน์ยังมีอิทธิพลสำคัญต่อ 3 ใน 4 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก

  • สื่อโทรทัศน์ยังคงมีบทบาทสำคัญในชีวิตของผู้คนทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยกว่า 3 ใน 4 (75%) ของกลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของสื่อโทรทัศน์เป็นประจำทุกวัน ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวของประเทศสูงกว่าถึง 85% ของนักท่องเน็ตในไทย***

การเป็นฝ่ายรอรับชมโทรทัศน์ตามผังรายการปกติไม่เพียงพอต่อความต้องการอีกต่อไป

  • ความต้องการรับชมเนื้อหาทีวีและวิดีโอออนไลน์ที่ตนชื่นชอบได้ทุกที่ทุกเวลา อาทิ การติดตามรายการทีวีโปรดได้ตามเวลาที่สะดวก ทำให้หนึ่งในสี่ (25%) ของนักท่องเน็ตทั่วโลกระบุว่ามีการเข้าชมเนื้อหาหรือข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และมือถือเป็นประจำทุกวัน ซึ่งสูงขึ้นอีกถึงกว่า 33% ในประเทศจีนและสิงคโปร์ 32% ในฮ่องกง ซึ่งเป็นสามประเทศที่ “แฟล็บเล็ต (Phablets)” กำลังเป็นที่นิยมในวงกว้าง ขณะที่ ชาวเน็ตในไทยมีอัตราการมีการเข้าชมคอนเทนต์ผ่านอุปกรณ์ดิจิตอลราว 11% ของจำนวนประชากรผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต***

อัตราการครอบครองอุปกรณ์ดิจิตอลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อคนที่สูงขึ้นเฉลี่ย 4 เครื่องต่อคน

  • ผลสำรวจ Connected Life พบว่า อัตราการถือครองอุปกรณ์ดิจิตอลสำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยต่อผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 1 คน(ครอบคลุมอุปกรณ์จำพวกคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต) อยู่ที่ 4 เครื่องต่อคน ส่วนในภูมิภาคเอเชียนั้นค่าเฉลี่ยการถือครองอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 3 เครื่องประชากรผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหนึ่งคน

นายโจ เว็บบ์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านกลยุทธ์ดิจิทัลของกลุ่มทีเอ็นเอส บริษัทวิจัยด้านการตลาดในกลุ่มกันตาร์จากเครือดับบลิวพีพี กล่าวว่า ฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดที่มีขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ตัวอย่างที่เด่นชัดของพฤติกรรมการใช้สื่อหลายหน้าจอในเวลาเดียวกัน อาทิ การรับชมแมตช์ฟุตบอลทางโทรทัศน์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ ขณะที่พูดคุยกับคอบอลในโซเชียลมีเดีย พฤติกรรมของผู้บริโภคในการรับข่าวสารข้อมูลแบบ screen-stacking นี้จะมีการขยายวงกว้างมากขึ้นในตลาดเอเชีย ที่ซึ่งนักท่องอินเทอร์เน็ตมีความโหยหาและต้องการรับชมคอนเทนต์ออนไลน์ต่างๆมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สื่อโทรทัศน์ก็ยังคงบทบาทสำคัญและอิทธิพลเหนือสื่ออื่นๆไว้ได้อย่างดีเยี่ยม จากการส่งเสริมจากคุณภาพและความหลากหลายในรับชมที่ดีขึ้นจากดิจิตอลทีวี และบริการทีวีออนดีมานต์ต่างๆ ดังนั้น พฤติกรรมการใช้สื่อหลายหน้าจอกำลังเกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในหมู่ผู้บริโภครุ่นใหม่ทั่วโลก และกลายเป็นโจทย์ที่นักการตลาดไม่ควรละเลยเพื่อค้นหาโอกาสที่แท้จริงในการทำความเข้าใจและสรรหาวิธีเชื่อมโยงติดต่อสื่อสารถึงผู้บริโภคยุคดิจิตอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ