ความเห็นประชาพิจารณ์คูปองเวทีสุดท้าย มูลค่าคูปองต้องสนับสนุนทีวีดิจิตอลอย่างแท้จริง พร้อมคำนึงถึงการใช้งบฯที่เหมาะสม

16 Jul 2014
บรรยากาศการรับฟังความคิดเห็นเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นในการดำเนินโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เวทีสุดท้าย ณ โรงแรมสวิส โฮเทล เลอคองคอร์ด กรุงเทพ ในวันสุดท้าย ภาคกลาง มีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล เคเบิล ดาวเทียม ผู้ผลิตกล่องต่างๆ นักวิชาการ ผู้บริโภค และสื่อมวลชนให้ความสนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นราคามูลค่าคูปอง ที่บางคนมีความเห็นให้คงราคาไว้ที่ 1,000 บาท เพราะเชื่อว่าประชาชนจะออกเงินส่วนต่างไม่มาก พร้อมทั้งได้กล่องที่มีคุณภาพตามที่ กสทช.กำหนด ในขณะที่ความเห็นของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอว่าปีแรกควรแจกคูปองราคา 690 บาท เพราะการกำหนดราคาคูปองที่สูงจะส่งผลให้ราคากล่องสูงขึ้นตาม เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคที่ไม่ได้รับคูปอง หรือซื้อกล่องที่ 2 ต่อไป พร้อมทั้งทบทวนราคาและวิธีการแจกในปีถัดไปเพราะในตลาดหากสินค้าหรือกล่องมีมากขึ้น – ราคาจะถูกลง และเพื่อรักษาผลประโยชน์เงินสาธารณะ สารี อ๋องสมหวัง กล่าวว่า “เงินไม่มีที่ไหนฟรี มีต้นทุนจากทุกส่วน”

ส่วนประเด็นเงื่อนไขการใช้คูปองจะสามารถแลกกล่องดาวเทียม หรือเคเบิลได้หรือไม่นั้น ผู้ประกอบกิจการดิจิตอลทีวี GMM และผู้ประกอบการเคเบิล และดาวเทียม เห็นด้วยกับการใช้คูปองแลกกล่องดาวเทียมเคเบิลเพื่อที่รับชมดิจิตอลทีวีในระบบ HD คุณภาพคมชัดสูงได้และมีช่องทีวีอื่นเพิ่ม ในขณะที่ผู้ประกอบการดิจิตอลทีวีรายอื่น อาทิ PPTV Nation TV อสมท. และผู้ผลิตกล่องดิจิตอลภาคพื้นดิน DVB T2 มีความเห็นว่า ไม่สมควรให้แลกกล่องดาวเทียมและเคเบิลได้ เพราะจะสร้างความเสียหายทางแผนธุรกิจที่ได้วางไว้มาก่อน พร้อมทั้งเกิดความเสียเปรียบทางธุรกิจทั้งแพลตฟอร์มและช่อง จึงอยากให้ กสทช.กลับมาทบทวนเงื่อนไขเดิมที่ได้บอกไว้ก่อนการประมูลว่า รายได้จะนำไปสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านการรับชมทีวีดิจิตอลทั้ง 48 ช่อง ให้เร็วที่สุด น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดและตรงตามกฎหมายนายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพ อสมท. แสดงความคิดเห็นว่า การรับฟังความเห็นครั้งนี้ไม่ควรตั้งคำถามว่า การให้คูปองแลกกล่องดาวเทียมและเคเบิลจะตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละตรรกะ กับการนำเงินประมูลคลื่นความถี่มาสนับสนุนกิจการไม่ใช้คลื่นทั้งเคเบิลและทีวีดาวเทียม จึงขอถามว่า ความเป็นธรรมอยู่ตรงไหน

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยหลัง ว่า ส่วนตัวมีความเห็นสอดคล้องกับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 12 ช่อง และองค์กรเพื่อผู้บริโภค รวมทั้งนักวิชาการ เพราะว่าในเวลานี้ ถ้าทุกฝ่ายอยากจะให้เกิดการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทีวีระบบดิจิตอลโดยเร็ว หนทางที่ปลอดภัยที่สุดคือ ยึดตามมติเดิมของกสทช. ที่กำหนดมูลค่าคูปอง 690 บาท พร้อมทั้งเงื่อนไขสามารถแลกทีวีดิจิตอลในตัวและกล่องทีวีดิจิตอลเท่านั้น ถ้าเปลี่ยนไปจากนี้ อาจมีเหตุในเกิดการฟ้องร้องและทำให้กระบวนการล่าช้าออกไปได้ เพราะฉะนั้นส่วนตัวคิดว่าในเฟสแรก หรือปีแรกนี้ น่าจะยืนตามหลักการนี้ก่อน หลังจากมีการรับชมได้เกิน 50 % ของครัวเรือนแล้วจึงค่อยมาดูกันว่าจะขยับคูปองให้ลดลงก่อนถึงจะมาเพิ่มเงื่อนไขรับชมผ่านกล่องทีวีดาวเทียมและเคเบิล

“เท่าที่ติดตามการรับฟังประชาพิจารณ์ การแสดงความเห็นส่วนมากจะอยู่ที่การรับชมที่มีความสะดวก แต่ต้องไม่ลืมจุดยืน กสทช.ที่ต้องสามารถทำให้รับชมได้ครบ 48 ช่อง เป็นจุดสำคัญถ้าหากมีปัญหาอาจมีการฟ้องร้องต่อศาลได้ ประกอบกับคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับ 80 เมื่อคืนนี้(9ก.ค.57)แสดงให้เห็นว่าสังคมจับตาการใช้งบประมาณ กสทช. รวมทั้ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.ก็ตั้งคำถามถึงการคิดราคาต้นทุนที่แท้จริง ถ้าเรายังไม่สามารถคิดราคาต้นทุนที่ชัดได้ เราจะกลับไปยืนที่ 690 ก็ยังมีฐานกฎหมายอิง...” สุภิญญา กล่าว

ทั้งนี้ กสทช.ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการนี้จนถึง วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2557 เวลา 16.30 น. ทาง อีเมล์ [email protected] ทางโทรสาร: หมายเลข 0 2278 5493 หรือส่งด้วยตนเองที่สำนักงาน กสทช. สำนักกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล อาคารมนริริน ชั้น 5 โซน C ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 (ในเวลาทำการ 8.30 – 16.30 น.) และส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน (โดยจะถือเอาวันที่ไปรษณีย์ลงทะเบียนได้ประทับตรารับจดหมาย) เรียน ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่อยู่ “สำนักงาน กสทช. เลขที่ 87 ถนนพหลโยธิน ซอย 8 (สายลม) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400” วงเล็บมุมซองว่า “แสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล