ดร. อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย เป็นผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและความเป็นอยู่ของท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งในประเทศไทยมีกว่า 17,000 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ การผลักดันสินค้าโอทอปไทย ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดสากลและรองรับการแข่งขันเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นี้ ต้องพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจกิจชุมชนในหลายด้าน อาทิ ด้านคุณภาพและมาตรฐาน สร้างความเข้าใจความต้องการของตลาด ฯลฯ ทั้งนี้ มีเพียง 1,000 กว่าผลิตภัณฑ์ หรือ 1 ใน 10 เท่านั้น ที่จัดอยู่ในระดับ A ซึ่งเป็นระดับดาวเด่น จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อให้โอทอปไทยโดดเด่นในระดับนานาชาติดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า กสอ. ในฐานะหน่วยงานรัฐที่ให้การส่งเสริม สนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปสู่สากลและเพิ่มมูลค่าสินค้าโอทอปด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา (High Value OTOP Based On Rich Culture and Local Wisdom) จึงร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดทำ “โครงการพัฒนามาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายโอทอปตลอดกระบวนการผลิตและทดสอบตลาดจากการพัฒนา” ภายใต้ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายก้าวสู่สากล” เพื่อยกระดับผู้ประกอบการโอทอปประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายทั่วประเทศ ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปให้ได้คุณภาพมาตรฐานสอดคล้องตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย โดยใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในตลาดในประเทศและต่างประเทศ การเปิดการค้าเสรี
อาเซียน จะทำให้ตลาดสิ่งทอของไทยกว้างมากขึ้น มีการซื้อขายสินค้าสิ่งทอที่เป็นสินค้าพื้นบ้านระหว่างในกลุ่มอาเซียนด้วยกันมากขึ้น ทั้งนี้ได้นำร่องพัฒนาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายโอทอปที่ จ.นครราชสีมา เป็นแห่งแรกและตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการมากกว่า 200 ราย โดยจะขยายผลสู่ภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า สำหรับ " โครงการพัฒนามาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายโอทอป ตลอดกระบวนการผลิตและทดสอบตลาด" สถาบันฯได้วางแผนการดำเนินงานลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูล วิธีการผลิต วัตถุดิบ เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการต้องการส่งออก จากนั้นจึงนำกลับมาทดสอบตามมาตรฐานสากล หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ตรงตามมาตรฐาน จะมีการส่งทีมที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเพื่อวิเคราะห์ปัญหาพร้อมให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามสากล โดยที่ผ่านมาปัญหาส่วนใหญ่คือ ผู้ประกอบการเลือกใช้วัตถุดิบให้สีหรือสีย้อมที่ไม่ได้คุณภาพ มีสารตกค้างต่าง ๆ รวมทั้งกระบวนการย้อมที่ไม่คงที่ ส่งผลให้ผ้าที่ได้เกิดตกสี ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถก้าวถึงตลาดต่างประเทศได้ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยดำเนินการเข้าถึงในภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือ พื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา เชียงใหม่ อุบลราชธานี และกรุงเทพฯ สำหรับเนื้อหาในการสัมนานั้นเน้นการให้ความรู้ตลอดกระบวนการผลิต
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเมื่อดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปอย่างเต็มรูปแบบแล้ว จะสามารถยกระดับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์โอทอปประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ผู้ประกอบการจะได้รับการพัฒนา โดยสถาบันฯ สิ่งทอจะทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการผลิตและทดสอบตลาด อาทิ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับการย้อมสีธรรมชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจให้มากที่สุด ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ซึ่งนำไปสู่การส่งออกในตลาดต่างประเทศและในอาเซียน โดยตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพออกสู่ตลาดสากลได้ ไม่น้อยกว่า 150 ผลิตภัณฑ์ นางสุทธินีย์กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการโอทอปประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ 532 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.thaitextile.org และ facebook: Thailand Textile Institute