ดร.ปรีชา กันธิยะ
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า จากการลงพื้นที่
ตรวจราชการและติดตามการดำเนินงานโครงการตามยุทธศาสตร์ประเทศ และนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมของ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู
หนองคาย อุดรธานี และสกลนคร พบว่า การทำงานในภาพรวมมีความเข้าใจและสามารถบริหารงานในเชิงยุทธศาสตร์ได้ในการปรับบทบาทจากกระทรวงสังคมสู่
กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ เพื่อนำรากวัฒนธรรมที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม มีเรื่องราว และเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มาต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดรายได้ของประชาชนจากเดิมให้เพิ่มสูงขึ้น อาทิ จังหวัดหนองบัวลำภู มีการพัฒนาทักษะมวยไทยให้แก่เยาวชนหญิงในท้องถิ่น เนื่องจากที่ผ่านมาทราบว่ามีการนำผู้หญิงที่ผ่านการประกวดเทพีมาฝึกซ้อมศิลปะแม่ไม้มวยไทย จนสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดทั้งในด้านทักษะความสามารถ รวมทั้งมีหน้าตางดงาม ถือว่าเป็นต้นแบบในการเผยแพร่รากวัฒนธรรมของชาติ ขณะเดียวกัน จังหวัดหนองบัวลำพู มีการนำเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงซึ่งเป็นทุนวัฒนธรรมมาผลิตเป็นสินค้าจำลองเพื่อนำมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมทั้งการฟื้นฟูศิลปะการแสดงหมอลำกลอนย้อนยุค ของจังหวัดหนองคาย และเทศกาลนมัสการพระธาตุเชิงชุม ของจังหวัดสกลนคร เป็นต้น ซึ่งเป็นจุดแข็งในการใช้ทุนทางวัฒนธรรม ที่นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน พัฒนาวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้บนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมสู่ประชาชน
ดร.ปรีชา กล่าวต่อว่า เพื่อให้บรรลุการปรับบทบาทดังกล่าว จึงจำเป็นต้องปรับระบบการบริหารจัดการให้มีความพร้อมทั้งในเรื่องของโครงสร้างองค์กร วัสดุอุปกรณ์ การทำงาน และปรับระบบการบริหารงานบุคลากร ให้มีความเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน การคัดสรร บรรจุ แต่งตั้งบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะด้าน เช่น ด้านกฏหมาย เศรษฐศาสตร์ ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ และสวัสดิการที่ดีขึ้น ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีความสุข และมีประสิทธิภาพสำหรับการบริหารงาน สำหรับในส่วนภูมิภาคนั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด จัดทำแผนงบประมาณและแผนปฏิบัติงานในพื้นที่ของจังหวัดให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงวัฒนธรรม และยุทธศาสตร์ประเทศของรัฐบาล รวมถึงแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยแนวทางดังกล่าวจะสามารถยกระดับบทบาทของกระทรวงไปสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ที่มีตัวชี้วัดเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณที่ชัดเจน มากำกับผลการปฏิบัติ และสามารถวัดได้ว่าการใช้ทุนทางวัฒนธรรมสามารถสร้างรายได้เพิ่มสูงขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตให้อยู่ดีมีสุขแก่ประชาชน ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ก็จะทำให้กระทรวงวัฒนธรรมได้รับงบประมาณที่เพิ่มขึ้น เป็น 10,000 ล้านบาทได้