โดย ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
หลายคนคงเคยประสบกับเหตุการณ์ที่อยู่ดีๆ ก็เกิดอาการข้าศึกโจมตี จนทนไม่ไหวต้องรีบขอตัวไปเข้าห้องน้ำไวปานจรวด จากที่สบายดี จู่ๆ เราก็มีอาการ “อุจจาระร่วง” หรือที่มักเรียกกันว่า “ท้องร่วง” “ท้องเสีย” ขึ้นมาทันใด บางคนอาจมีอาการไม่มาก แต่บางคนอาจเป็นหนักถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาลกันเลยทีเดียว วันนี้ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับโรคอุจจาระร่วง เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามกัน
โรคอุจจาระร่วง หรือ diarrhea หมายถึง การถ่ายอุจจาระเหลวเกิน 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเหลวเป็นน้ำ 1 ครั้ง หรือถ่ายเป็นมูกเลือด 1 ครั้งในหนึ่งวัน หรือมีอาการถ่ายเหลวผิดปกติหรือถ่ายบ่อยกว่าปกติ เรามักพูดกันติดปากว่า ท้องร่วง ท้องเสีย ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดบิดในท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน โดยโรคนี้แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ แบบเฉียบพลัน (acute) และแบบเรื้อรัง (chronic) ผู้ป่วยที่เป็นอุจจาระร่วงเฉียบพลันมักหายภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนใหญ่หายได้เอง แต่หากเป็นนานเกิน 2 สัปดาห์เรียกว่า อุจจาระร่วงเรื้อรัง โดยโรคนี้เป็นโรคพบได้บ่อยในชีวิตประจำวันของเราทุกคน องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า มีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในแต่ละปีมากกว่า 1,700 ล้านคนทั่วโลก โรคอุจจาระร่วงจัดว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ของประชากรในประเทศกำลังพัฒนา ในแต่ละปี มีเด็กประมาณ 2-3 ล้านคนเสียชีวิตจากโรคนี้ ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีคนเป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันมากกว่า 100 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งป่วยจนส่งผลต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยจำนวน 10% ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา ส่วนที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลมีถึง 250,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 5,000 คน ส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุ
ในประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าในปี พ.ศ.2555 มีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจำนวน 1,229,641 คน อัตราป่วยเท่ากับ 1,913.35 ต่อประชากรแสนคนและมีผู้เสียชีวิต 27 คน คิดเป็นอัตราตาย 0.04 ต่อประชากรแสนคน จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าโรคนี้มีอัตราป่วยสูงและอัตราป่วยตายต่ำ อย่างไรก็ดี แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง แต่เราก็ไม่ควรมองข้าม เพราะโรคนี้อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เราจึงควรเรียนรู้สาเหตุและวิธีการดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคอุจจาระร่วงอย่างถูกต้อง
โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ผู้ป่วยมากกว่า 90% เป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากการติดเชื้อ อาจเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ โดยได้รับเชื้อผ่านการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเหล่านี้ ระยะฟักตัวตั้งแต่ได้รับเชื้อจนมีอาการมักจะเป็นวันๆ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการคลื่นไส้ เป็นไข้ และปวดท้องร่วมด้วย ที่เหลืออีก 10% เกิดจากการกินอาหารที่มีพิษของเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ รวมทั้งผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาหัวใจเต้นผิดปกติ ยาลดความดัน ยาเคลือบกระเพาะ ยาระบาย ระยะเวลาตั้งแต่รับพิษของเชื้อ หรือรับยาจนมีอาการจะสั้นกว่า มักไม่ถึงหนึ่งวัน
โรคอุจจาระร่วงเรื้อรัง ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากภาวะหรือโรคอื่นซึ่งส่งผลต่อลำไส้ เช่น โรคลำไส้อักเสบ (Inflamatory Bowel Disease) โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) ภาวะต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมาเกินปกติ (Hyperthyroidism) หรืออาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งก็ได้ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม หากมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีไข้ อุจจาระมีมูกเลือดปน ท้องเสียรุนแรงนานกว่าสามวัน หรือมีอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ชีพจรเต้นเร็วหรือเบา หายใจเร็วหรือหอบ ซึมหรือกระสับกระส่าย ควรรีบไปพบแพทย์ เรื่องนี้ต้องอาศัยญาติ ผู้ใกล้ชิดคอยดู เพราะบางครั้งผู้ป่วยเองอาจจะไม่ทันสังเกต โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ทั้งโรคหัวใจ โรคไต ฯลฯ เผลอนิดเดียว อาการทรุดหนักได้ หากเด็กๆ มีอาการท้องเสีย ควรพาไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ เนื่องจากเด็กมักบอกอาการเองไม่ได้ ยิ่งถ้าเด็กมีอาการขาดน้ำ เช่น ตาโหล ปากแห้ง กระหม่อมบุ๋ม ซึมหรือกระสับกระส่าย ไม่เล่นตามปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
การรักษาโรคอุจจาระร่วง สำหรับในแบบเฉียบพลัน สิ่งสำคัญในการรักษาคือ การให้น้ำและเกลือแร่เพื่อชดเชยส่วนที่สูญเสียไป ป้องกันและแก้ไขภาวะขาดน้ำ ในผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง อาจให้ดื่มน้ำเกลือแร่ โดยละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ หรือที่เรียกกันว่า ผง ORS (Oral Rehydration Salts) ในน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว ดื่มแทนน้ำบ่อยๆ และคอยสังเกตดูสีปัสสาวะ หากมีสีเข้มแสดงว่ายังได้น้ำไม่เพียงพอ ต้องพยายามดื่มน้ำเกลือแร่เพิ่มอีก สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก มีภาวะขาดน้ำรุนแรง โดยเฉพาะรายที่มีอาการอาหารเป็นพิษร่วมด้วย และมีอาการอาเจียนมาก กินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ แพทย์จะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ การให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยนั้น แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยให้ในผู้ป่วยบางรายที่คาดว่ามีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น โรคบิดไม่มีตัว อหิวาตกโรค หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง เนื่องจากโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันส่วนใหญ่หายได้เอง ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ การให้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นอาจทำให้เกิดการติดเชื้อดื้อยาในอนาคต ดังนั้นผู้ป่วยท้องร่วง ท้องเสีย จึงไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง มีผู้ป่วยหลายราย อยากให้อาการหายเร็วๆ หรือทำตามคำแนะนำของร้านขายยา ไปรับประทานยาที่ทำให้ลำไส้บีบตัวช้าลง ที่มีในตลาดเช่นยา อิโมเดียม (Imodium) โลโมติล (Lomotil) ระยะแรกๆอาจจะดีขึ้นบ้างเพราะถ่ายน้อยลง แต่ไม่นานจะทำให้ท้องอืด ยิ่งไม่สบายกว่าเดิม ควรใช้อย่างระมัดระวัง เพราะเป็นยาที่รักษาแต่อาการ ไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุ แถมยังอาจจะทำให้มีอาการไม่สบายอื่นร่วมอีกด้วย การรักษาโรคอุจจาระร่วงเรื้อรัง เนื่องโรคอุจจาระร่วงเรื้อรังส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากโรคอื่น ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและให้การรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ตามเราสามารถป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นโรคอุจจาระร่วง ได้โดย ดื่มน้ำสะอาด ถ้าเป็นน้ำต้มสุกที่เก็บในขวดหรือภาชนะที่สะอาด ปิดสนิท จะดีที่สุด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และสะอาด ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนและหลังรับประทานอาหาร รวมทั้งหลังเข้าห้องน้ำ ภาชนะที่ใส่อาหารต้องล้างให้สะอาดก่อนใช้ และสำหรับการป้องกันโรคอุจจาระร่วงไม่ให้แพร่ไปสู่คนอื่นได้โดย ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนปรุงอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ทิ้งขยะในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน เมื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคอุจจาระร่วงกันแล้ว หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะดูแลรักษาสุขภาพตัวเองให้ห่างไกลจากโรคอุจจาระร่วงกัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit