นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้ว่าในปัจจุบันอุบัติการณ์โรคเรื้อน ในประเทศไทยลดลงมาก ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จากโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระมหากรุณาธิคุณสนับสนุนการดำเนินงานจนทำให้การควบคุมโรคเรื้อนของประเทศไทย ประสบความสำเร็จเป็นประเทศแรกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตามยังพบผู้ป่วยรายใหม่ที่มารับการรักษาที่สถานบริการสุขภาพต่างๆ อย่างต่อเนื่อง สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคเรื้อนขึ้นทะเบียนรักษาทั่วประเทศ ปี พ.ศ. 2554 จำนวน 304 ราย (0.48 ต่อประชากรแสนคน) และปี พ.ศ. 2555 จำนวน 329 คน (0.37 ต่อแสนประชากร) ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับนโยบายการควบคุมโรค “20 ปี แห่งความสำเร็จ ของการกำจัดโรคเรื้อน สมดังพระราชปณิธาน” เพื่อสนองพระราชดำริฯ และเพื่อให้ทุกพื้นที่ของประเทศไทยเป็นเขตปลอดปัญหาโรคเรื้อน โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความความรู้และตระหนักเรื่องโรคเรื้อน รวมทั้งเร่งรัดให้ผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ เข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาก่อนเกิดความพิการ ซึ่งโรคเรื้อนรักษาให้หายได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน – 2 ปี และช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข ในปี 2557 นี้ กรมควบคุมโรคจะรณรงค์ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ เน้นตรวจพบ ค้นเจอ ผู้ป่วยรายใหม่ รับรางวัล 2,000 บาท โดยจะดำเนินการในช่วงวันที่ 17 มกราคม 2557 - 15 มกราคม 2558 นี้ และจะมีการดำเนินการค้นหาโรคเชิงรุก ในกลุ่มเป้าหมาย 72 อำเภอ ใน 33 จังหวัดที่ยังมีข้อบ่งชี้ว่า มีรายงานผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ การกำจัดโรคเรื้อนให้หมดจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดอาการทางผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลาย เชื้อโรคเรื้อนสามารถติดต่อทางลมหายใจ และผิวหนังที่แตกเป็นแผล แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องภายใน 7 วัน จะไม่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้อีก การทำลายเส้นประสาทส่วนปลายของเชื้อโรคเรื้อนทำให้เกิดความพิการ อาการในตอนแรก คือ อาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงเหงื่อไม่ออก และตามมาด้วยความพิการที่เกิดตามมาภายหลัง ซึ่งเกิดเนื่องจากมีแรงกระแทกซ้ำๆ ความแห้งและแตกของผิวหนัง ความพิการนี้มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และยังเป็นตราบาปแก่ผู้ป่วยอีกด้วย ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าสังคมในชุมชนได้ ผู้ป่วยโรคเรื้อน ประมาณร้อยละ 25 เป็นผู้ป่วยที่มีความพิการ การป้องกันความพิการจึงเป็นส่วนสำคัญในการรักษาโรคเรื้อน การป้องกันการทำลายเส้นประสาทและการรักษาความพิการเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในงานโรคเรื้อน การฟื้นฟูสภาพในผู้ป่วยโรคเรื้อน ควรจะรวมเข้ากับโปรแกรมการฟื้นฟูสภาพโดยชุมชน สำหรับความพิการจากสาเหตุอื่นด้วย
“ผู้ป่วยควรดูแลตนเอง โดยสังเกตมือ เท้าว่ามีแผลหรือการติดเชื้อหรือไม่ การรักษาแผล การบริหารกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันข้อติด การแช่น้ำและทาน้ำมัน เพื่อไม่ให้ผิวแห้ง การใส่รองเท้าที่เหมาะสม โดยเน้นรองเท้าที่หาได้ง่าย และราคาไม่แพงจนเกินไป บุคคลอื่นก็สามารถมีส่วนช่วยเหลือผู้ป่วยได้ เช่น สมาชิกในครอบครัว สามารถช่วยและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยในการดูแลตนเองในแต่ละวัน ผู้ป่วยโรคเรื้อนคนอื่นๆ ก็สามารถบอกเล่าประสบการณ์ตนเอง และแสดงวิธีการดูแลตนเองที่บ้านให้ผู้ป่วยคนอื่นดู รวมทั้งการรวมกลุ่มของผู้ป่วยโรคเรื้อนขึ้นในชุมชนสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาล เพื่อให้สมาชิกได้มาพบปะกัน และศึกษาวิธีการดูแลตนเอง ซึ่งจะเป็นการสนับสนุน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ผู้ที่มีอาการทางผิวหนัง ได้แก่ เป็นวงด่าง ชา ผื่นหรือตุ่มนูนแดง ไม่คัน ให้สงสัยโรคเรื้อน รีบไปพบแพทย์ สามารถรักษาให้หายขาดได้และไม่มีความพิการถ้ารับการรักษาเร็ว ประชาชนที่มีความสนใจติดต่อสอบถามได้ที่ สถาบันราชประชาสมาสัย โทร 02 386 8153-5 ต่อ 231, 232 หรือ เว็บไซต์ www.thaileprosy.org และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติม
HTML::image( HTML::image(