สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งในปี 2557 ตรงกับวันที่ 26 มกราคม ถือเป็นวันรณรงค์วันโรคเรื้อนโลก แม้ว่าปัจจุบันพบประชาชนคนไทยป่วยเป็นโรคเรื้อนน้อยลงมากก็ตาม แต่ปัจจัยการย้ายถิ่นฐานที่อยู่ของแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน ในการเข้ามาทำงานในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย รวมทั้งการเปิดเสรี AEC ทำให้ส่งผลกระทบต่อการแพร่กระจายของโรคได้มากขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดจากกรมควบคุมโรค พบว่าในปี 2555 มีผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนขึ้นทะเบียนรักษาทั่วประเทศ จำนวน 555 คน คิดเป็นอัตราความชุกของโรค เฉลี่ย 0.09 คน ต่อจำนวนประชากร 10,000 คน จากพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยพบผู้ป่วยใหม่ที่เป็นชาวต่างชาติ 20 คน ทั้งหมดเป็นสัญชาติพม่า การกระจายของผู้ป่วยโรคเรื้อน จำแนกรายภาค เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 291 คน คิดเป็น 52.43 เปอร์เซ็นต์ ภาคใต้ จำนวน 95 คน คิดเป็น 17.12 เปอร์เซ็นต์ ภาคเหนือ จำนวน 86 คน คิดเป็น 15.50 เปอร์เซ็นต์ และภาคกลาง จำนวน 83 คน คิดเป็น 14.95 เปอร์เซ็นต์ มีจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรักษาแล้วสะสมทั่วประเทศรวม 172,934 คน โดยในปี 2557 นี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะรณรงค์เจาะกลุ่มเป้าหมาย 72 อำเภอ ใน 33 จังหวัด ที่ยังมีข้อบ่งชี้ว่ายังมีการระบาดของโรคอยู่ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การกำจัดโรคเรื้อนไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน
โรคเรื้อนเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเรื้อรังที่ผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลาย โรคเรื้อนเกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง คือ Mycobacterium leprae ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเชื้อวัณโรค โรคเรื้อนมีระยะฟักตัว 2-12 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
ผู้ป่วยโรคเรื้อนชนิดรุนแรงที่มีผื่นทั่วตัวที่ยังไม่ได้รักษา เป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ M.leprae แพร่กระจายจากร่างกายผู้ป่วยทางลมหายใจและบาดแผลที่ผิวหนัง ผู้ที่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น คนในครอบครัวเดียวกัน มีโอกาสติดเชื้อมากที่สุด แต่คนทั่วไปส่วนมากมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติต่อเชื้อโรคเรื้อนอยู่แล้ว ภูมิต้านทานจะกำจัดเชื้อโรคเรื้อนจนหายไปเอง คนที่ได้รับเชื้อส่วนมากจึงไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อน
เชื้อโรคเรื้อนมักทำลายผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลาย จึงทำให้เกิดผื่นผิวหนังและการทำลายของเส้นประสาทส่วนปลาย ผู้ป่วยโรคเรื้อนมักมีอาการเริ่มแรก คือ มีผื่นสีขาวหรือสีแดง ผื่นจะแห้งเป็นขุย และชา หยิกไม่เจ็บ เส้นประสาทที่อยู่ใกล้กับผื่นอาจบวมโตขึ้น อาจมีอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงตามบริเวณมือและเท้าที่เส้นประสาทนั้นหล่อเลี้ยง ถ้าไม่ได้รักษา โรคจะลุกลามเกิดผื่นนูนแดงทั่วตัว ผื่นไม่ปวด ไม่ชา ไม่คัน เส้นประสาทโตหลายเส้น มือชาขึ้นมาถึงศอก เท้าชาขึ้นมาถึงเข่า ถ้าป่วยเป็นโรคเรื้อนมาหลายปี อาจทำให้ขนคิ้วร่วง จมูกยุบ กล้ามเนื้อมือเท้าลีบ เกิดบาดแผลตามมือเท้าที่ชา
ผื่นผิวหนังในผู้ป่วยโรคเรื้อนอาจดูคล้ายโรคกลาก, เกลื้อน, ลมพิษ, ผื่นแพ้ยา แต่ผื่นโรคเรื้อนมักเป็นมานานหลายปี และมีอาการชา ไม่คัน ถ้าพบความผิดปกติต่อไปนี้ให้นึกถึงโรคเรื้อน ได้แก่ มีผื่นผิวหนังชา หยิกไม่เจ็บ มีก้อนบวมตามใบหน้าและใบหู มือเท้าชา เป็นบาดแผลที่ไม่เจ็บปวดได้ง่าย
โรคเรื้อนรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฎิชีวนะหลายชนิด ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อนชนิดไม่รุนแรง มีผื่นไม่เกิน 5 แห่ง สามารถรักษาได้ด้วยยาไรแฟนปิซินและแดปโซน 6 เดือน ส่วนผู้ป่วยชนิดรุนแรงให้เพิ่มยาโคลฟาซิมินเป็นยาชนิดที่ 3 รักษานาน 2 ปี หลังจากรักษาครบแล้วต้องตรวจติดตามผู้ป่วยอีก 3-5 ปี โดยไม่ต้องให้ยารักษาโรคเรื้อน เพื่อให้แน่ใจว่าผื่นแดงที่เหลืออยู่จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง และไม่มีภาวะโรคเห่อแทรกซ้อน ผู้ป่วยระหว่างรักษาหรือหลังรักษา ถ้าเกิดถาวะโรคเห่อ คือ เกิดตุ่มบวมแดงปวด, มีไข้, กล้ามเนื้อเท้าอ่อนแรง ต้องรีบกลับมาพบแพทย์เพื่อรักษาด้วยยาต้านอักเสบ
ปัจจุบันมียาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคเรื้อนให้หายขาดได้ ผู้ป่วยโรคเรื้อนที่เพิ่งเริ่มเป็นและยังไม่มีความพิการ เมื่อรักษาแล้วจะหายไม่เหลือร่องรอยของโรคเรื้อน คนที่มีอาการน่าสงสัยหรือเป็นโรคเรื้อนสามารถรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาล สถานีอนามัย สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกแห่ง และคนที่เป็นโรคเรื้อนก็สามารถอยู่กับครอบครัวได้ตามปกติ เพราะผู้ที่เป็นโรคเรื้อนเมื่อได้กินยารักษาในสัปดาห์แรกก็จะไม่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นแล้ว หากเราได้ทำความเข้าใจเรื่องโรคเรื้อนอย่างถ่องแท้แล้ว จะเห็นว่าโรคเรื้อนไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ไม่ได้ติดต่อกันง่าย ๆ เราสามารถพูดคุยกินอาหารร่วมกับผู้ป่วยที่กำลังรักษา และหายจากโรคแล้วได้ และควรเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบปัญหาโรคเรื้อน สามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติเช่นเราทุกคน
คำแนะนำสำหรับคนในครอบครัวของผู้ป่วย (ล้อมกรอบ)
การรักษาโรคเรื้อนให้หายขาดได้นั้น ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาและปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ โดยมีข้อปฏิบัติง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
1. ถ้าหากรับประทานยาแล้วมีอาการผิดปกติหรือมีอาการแทรกซ้อน เช่น เกิดผื่นบวมแดงที่ผิวหนังเพิ่มขึ้น หรือปวดตามเส้นประสาท ให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
2. ผู้ป่วยสามารถที่จะอยู่ร่วมกับทุกคนในครอบครัวได้ตามปกติ และสมาชิกทุกคนในครอบครัวควรให้ความเห็นใจ ให้กำลังใจ และคอยเตือนให้ผู้ป่วยรับประทานยาสม่ำเสมอและระมัดระวังในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันความพิการอยู่เสมอ
3. ผู้ป่วยต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และมีภูมิต้านทานโรค และทุกคนที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วย จะต้องตรวจสุขภาพผิวหนังปีละ 1 ครั้ง สังเกตุอาการเริ่มแรกของโรคเรื้อน เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรค
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit