องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ เร่งขอผลการสืบสวนสาเหตุการตายของกระทิงจำนวนมาก

23 Jan 2014
กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และมูลนิธิโลกสีเขียว เรียกร้องให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยผลทดสอบของตัวอย่างชิ้นส่วนที่เก็บมาจากซากของกระทิงและสภาพแวดล้อมที่มีการตายอย่างโปร่งใส เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการตายของกระทิงเป็นการเร่งด่วน และมีมาตรการป้องกันการสูญเสียของสัตว์หายากชนิดนี้ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ เร่งขอผลการสืบสวนสาเหตุการตายของกระทิงจำนวนมาก

นับตั้งแต่เดือนธันวาคมของปีก่อน มีการสำรวจพบกระทิง 23 ตัวล้มตายในอุทยานแห่งชาติกุยบุรีในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อย่างไม่ทราบสาเหตุ จำนวนประชากรกระทิงในอุทยานแห่งชาติกุยบุรีประเมินกันว่ามีอยู่จำนวนประมาณ 150 ตัวตามข้อมูลของสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีคำสั่งให้ทำการสืบสวนเรื่องนี้อย่างเต็มที่เพื่อสรุปถึงสาเหตุการตายที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็น โรคระบาด พืชต่างถิ่น หรือการใช้สารแปลกปลอมโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ที่ผ่านมาการสืบสวนและตรวจสอบหลักฐานได้มีการดำเนินการมาเป็นเวลานานนับเดือน แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลที่ชัดเจน

ทางเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์อันประกอบด้วย WWF มุลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิโลกสีเขียว ขอสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการค้นหาสาเหตุการตายอย่างละเอียดและโปร่งใสด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งทำการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะโดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้มีการจัดการและเตรียมรับมือต่อเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีก และหากพบว่ากรณีดังกล่าวมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยิ่งต้องมีการจัดการสืบสวนและเอาผิดอย่างถึงที่สุด

กระทิงเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าที่มีความสำคัญยิ่งต่อการอนุรักษ์ และยังเป็นเหยื่อที่สำคัญของเสือโคร่ง ที่ผ่านมาอุทยานแห่งชาติกุยบุรีได้รับการยอมรับว่ามีการจัดการอนุรักษ์และฟื้นฟูถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้พื้นที่ธรรมชาติฟื้นคืนกลับมาเป็นแหล่งอนุรักษ์สัตว์ป่าที่สำคัญ หนึ่งในโครงการอนุรักษ์ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯ และหน่วยงานเอกชนเช่น WWF คือการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆเป็นอย่างดี จนประชากรสัตว์กีบในพื้นที่เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การตายของกระทิงจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุในครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์การสูญเสียที่ร้ายแรง และเป็นอุปสรรคในการผลักดันงานอนุรักษ์สัตว์ป่าให้ก้าวหน้าต่อไป

อุทยานแห่งชาติกุยบุรีเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าแก่งกระจาน และเชื่อมต่อกับผืนป่าตะวันตกทางตอนเหนือ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ด้านตะวันตกผืนนี้จึงเป็นป่าใหญ่ที่มีความสำคัญที่สุดในแง่การอนุรักษ์ของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรอนุรักษ์ขอเรียกร้องให้ทำความจริงในเรื่องนี้ให้ปรากฎ และสรุปบทเรียนเพื่อใช้ในการจัดการสัตว์ป่าอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ เร่งขอผลการสืบสวนสาเหตุการตายของกระทิงจำนวนมาก องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ เร่งขอผลการสืบสวนสาเหตุการตายของกระทิงจำนวนมาก