พลิกวิกฤตแล้งปลูกฟักทองสร้างรายได้

11 Feb 2014
เกษตรกรอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม รวมกลุ่มพลิกวิกฤตภัยแล้งหันไปปลูกฟักทองหวังสร้างรายได้ไร่ละ20,000-50,000 บาท/ไร่

ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำโดยรวมในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ทั้ง 17 แห่งมีระดับเก็บกักไม่ถึงร้อยละ 50 รวมถึงอ่างเก็บน้ำโคกก่อต้นน้ำลำห้วยคะคาง จึงต้องงดการส่งน้ำให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรัง เกษตรกรผู้ใช้น้ำจึงต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาสหันไปปลูกฟักทองทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง โดยนางกัญญาภัทร แก้วกาหลง เกษตรกร บ้านโคกก่อ อำเภอเมืองมหาสารคาม ได้รวมกลุ่มปลูกฟักทอง 20 ไร่ ซึ่งฟักทองเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนต่อไร่สูง ใน1 รุ่นใช้ระยะเวลา 4 เดือน การปลูกเริ่มตั้งแต่ไถดะ 1 ครั้งตากดินไว้ 7 วัน ไถแปรอีก 1 ครั้ง ก่อนยกร่องและนำเมล็ดที่บ่มพร้อมงอกมาปลูกหลุมละ 2 เมล็ดโดยใช้ระยะปลูก2 คูณ 4 เมตร ซึ่งจะปลูกระยะเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับลักษณะของพันธ์ที่ปลูก หลังจากหยอดเมล็ดปล่อยน้ำไหลไปตามร่อง ระยะแรก ใช้ถังตักรดที่หลุมปลูก โดยให้น้ำประมาณ 7-10 วันครั้ง และเมื่ออายุ 15 วัน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15 – 15-15 ครั้งที่ 1 อัตรา 100 กรัม/หลุมหรือ 25 กิโลกรัม/ไร่ อายุ 25-30 วันใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15 – 15 -15 ครั้งที่ 2 อายุ 40 -45 วันจะออกดอก การผสมเกสรต้องใช้คนช่วยผสมโดยใช้ดอกตัวผู้กับตัวเมียอัตรา 1: 2 เวลาที่ผสมจะใช้ช่วงเวลาตี 5 ถึง 10 โมงเช้า หลังจากผสมเกสร 30 วันจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ 1 ไร่ให้ผลผลิตประมาณ 3-5 ตันต่อไร่ ต้นทุนในการผลิตไร่ละ5,000–6,000 บาท 1 ไร่มีกำไรประมาณ20,000-40,000 บาท ในระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆโดยเฉพาะข้าวนาปรังที่ต้องใช้น้ำในปริมาณที่มาก ทำให้เสี่ยงต่อผลกระทบจากภัยแล้ง

เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวต่อไปว่า ฟักทอง เป็นพืชผักที่จัดอยู่ในกลุ่มพืชตระกูลแตง มีลำต้นทอดและเลื้อยไปตามพื้นดิน มีดอกสีเหลือง ดอกตัวผู้และตัวเมียแยกกันแต่อยู่ในต้นเดียวกัน ฟักทองเป็นพืชผักที่มีกากใยมากพอสมควร ช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้นและไม่ทำให้อ้วน เพราะมีแคลอรี่ไม่สูงมากนัก ผู้ต้องการมีรูปร่างสวยงาม ควรบริโภคฟักทองเป็นประจำนอกจากนี้ฟักทองยังมีวิตามินสูง ซึ่งช่วยบำรุงผิวพรรณและสายตาอีกด้วย

เกษตรกรที่สนใจการปลูกฟักทอง ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด/สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือติดต่อสอบถามโดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔