เยาวชนรุ่นใหม่ ก้าวทันเทคโนโลยี 2014 ตามรอยพระราชดำริ

06 Feb 2014
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้เกียรติเป็นประธานงาน สัปดาห์วิชาการสร้างสรรค์ “ สยามเทค สมาร์ท เทคโนโลยี 2014 (Siamtech Smart Technology 2014)” พร้อมปาฐกถาพิเศษ ‘การพัฒนาการศึกษาและเทคโนโลยีตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ เพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค)
เยาวชนรุ่นใหม่ ก้าวทันเทคโนโลยี 2014 ตามรอยพระราชดำริ

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการเทิดพระเกียรติเป็นพระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย พระบิดาแห่งฝนหลวง และล่าสุด ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า ‘พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน’

ความเป็นครูของพระองค์ทรงทำดังนี้ ‘ทรงทำให้ดู’ ไม่มีสั่งการแต่ทรงพยายามทำให้ดู พยายามชักจูง พยายามสอน ทรงสอนง่ายๆ สอนในหลักปฏิบัติ โดยพระองค์ทรงมีวิธีสอนให้เข้าใจอย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุม และทรงสอนว่า จะเข้าไปทำกิจกรรมที่ไหน ต้องรู้ภูมิสังคม คือ ภูมิศาสตร์ หมายถึงพื้นดิน ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่อยู่รอบๆ ตัวเราก่อน ต้องเข้าใจธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ ส่วน สังคม หมายถึง คน ต้องยึดหลักวิถีชีวิตของคน ให้เคารพคน เข้าใจคน ดังนั้นเรื่อง ‘ภูมิสังคม’ ช่วยในเรื่องหลักการทำงาน เป็นบทเรียนที่ล้ำค่าอย่างยิ่ง

สำหรับโครงการพระราชดำริ ทรงบริหารโครงการอย่างมีระบบ และทรงนำวิชาการทุกแขนงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทรงนำศาสตร์ทางด้านเกษตรกรรม วิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ มาพัฒนาระบบเกษตรที่พระองค์ทรงเน้นในการพัฒนา เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เป็นมิติใหม่ของการบริหารงาน ซึ่งนำเอาแผนงานของส่วนราชการต่างๆ มาประสานให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรมากที่สุด

และทรงมีพระราชดำรัส ในหลักปฏิบัติให้พอมีพอกิน นั่นก็คือ เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้สอนให้จน แต่ให้รู้สภาพของตนเอง ให้เกิดความพอดี เลือกกินเลือกใช้อย่างไรให้มีประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด ซึ่งผลจากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริทำให้คนอยู่ได้ด้วยการ ‘พึ่งตนเอง’ เป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน และส่งผลให้ประเทศไทยมีความเจริญเป็นปึกแผ่นมั่นคง สังคมมีความสงบสุขร่มเย็น เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช ผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) กล่าวว่า วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) สถานศึกษารางวัลพระราชทานประเภทอาชีวศึกษา ในปีนี้ครบรอบ 49 ปี ทางวิทยาลัยได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านศักยภาพช่างฝีมือให้มีความเชี่ยวชาญ ฉลาดรอบรู้ ก้าวทันโลก ก้าวทันเทคโนโลยี ตามรอยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"ภายในงาน จัดให้มีการแสดงผลงานสร้างสรรค์ของนักศึกษา และการประกวดสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม โดยจะเน้นเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ได้เทคโนโลยีล้ำทันสมัยเหมาะกับสังคมยุคใหม่ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน"

น้องๆ เยาวชนสรรค์สร้างพลังจุดประกายความคิดสู่นวัตกรรมการประดิษฐ์มากมาย อาทิ เครื่องพ่นน้ำจุลินทรีย์ เพื่อการบำบัดน้ำเสีย / อุปกรณ์ลดอุณหภูมิภายในห้องอาศัย / อุปกรณ์ลดอุณหภูมิภายในรถยนต์ / เครื่องพ่นยาฆ่าแมลงพลังแสงอาทิตย์ / พัดลมดูดอากาศจากพลังน้ำ / ชุดทดลองการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ และเครื่องปอกมะพร้าวอ่อน เป็นต้น

ส่วนกลุ่มด้านวิทยาศาสตร์ จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของบริโภคเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะแสดงถึงที่มาพันธุ์พืชต่างๆ รวมทั้งให้ความรู้ว่า อาหารที่มีไขมันสูง เช่น กะทิ เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลในเลือดได้ นอกจากนี้ เมื่อคอเลสเตอรอลตามผิวหนังถูกแสงแดด จะช่วยสร้างวิตามินดีโดยอัตโนมัติ และยังเป็นตัวสร้างสเตอรอยด์ฮอร์โมนให้แก่ร่างกาย

“อาหารพื่อสุขภาพที่ควรบริโภค เช่น โปรตีนพร่องมัน ถั่วเมล็ดแห้ง ปลาหรือเนื้อ (ไม่ติดมัน) ข้าวซ้อม ผักสด กระเทียม ผลไม้ไม่หวานจัด ดอกคำฝอย และข้าวโพด นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินผัก ผลไม้เป็นประจำ สำหรับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น เนย มันหมูวัวไก่ หนังไก่ เครื่องใน ปลาหมึก หอยนางรม แกงกะทิ ไอศกรีม โดนัท เค้ก คุกกี้ และปาท่องโก๋ เป็นต้น” กฤษพล กาไผ่กลาง ปวช.3 สาขาเทคนิคช่างยนต์ บอกเล่า

สิทธิพงษ์ สุภาพ และ จิรายุ ดอนอ้อย ปวช.3 สาขาเทคนิคยานยนต์ สองหนุ่มสร้างสรรค์ผลงาน ‘อุปกรณ์ลดอุณหภูมิภายในห้องอาศัย’ เล่าถึงสิ่งประดิษฐ์ให้ฟังว่า- - “เป็นอุปกรณ์ลดอุณหภูมิความร้อนภายในห้อง ให้อากาศเย็นลง โดยไม่ต้องเปิดแอร์ ซึ่งจะใช้แผ่นเหล็กสร้างเป็นชั้นๆ เปลี่ยนพลังความร้อนให้เป็นพลังความเย็น ...การผลิตใช้เวลาไม่นาน อาศัยที่เราเรียนการต่อสวิตช์ไฟที่เรียนมา แล้วมาปรับใช้กับอุปกรณ์นี้”

โอฬาร ละม้าย และ ภูวนัย อ่อนละมูล ปวช.3 สาขาเทคนิคช่างยนต์ ต่างช่วยกันสานฝัน ‘ชุดทดลองการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ’ กล่าวว่า- - “ชุดอุปกรณ์นี้ที่คิดขึ้นมา ใช้พลังงานทดแทนโดยน้ำเป็นตัวหลัก เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เมื่อปล่อยน้ำโดยใช้กำลังเทอร์บาย กังหันและล้อจะหมุน เป็นการปั่นไฟ อีกปลายด้านหนึ่งก็จะเกิดกระแสไฟขึ้น หรืออาจจะเก็บพลังไฟฟ้านี้ไว้ที่ชาร์ตหรือตัวประจุไฟก็ได้ เพื่อนำมาใช้ได้ต่อไป ...การประดิษฐ์คิดค้นไม่นาน ขั้นแรกต้องวางแผนก่อนว่าจะใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรมาเป็นประกอบ เมื่อได้แล้วก็ประกอบขึ้นเป็นรูปร่าง ซึ่งใช้ทุนน้อยการลงทุนไม่สูงมาก คิดว่าหากจะพัฒนาต่อไป จะต้องออกแบรูปแบบให้สวยงามกว่านี้ครับ” เป็นเพียงไอเดียนำเสนอเพื่อจุดประกายความคิดของคนรุ่นใหม่ ให้ก้าวไกลทันเทคโนโลยีสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

HTML::image( HTML::image( HTML::image( HTML::image(