นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ร่างแผนการทำงานดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม เพื่อนำไปสู่การประกาศเป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan)และนำไปใช้จริงในเดือนสิงหาคมปีนี้ โดยจะมีการกำหนดกรอบ แนวทางและกิจกรรม การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ในอุตสาหกรรมประมงทุกภาคส่วนอย่างชัดเจน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการประมงอย่างยั่งยืนภายใน 5 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ สมาคมฯได้มีการประสานความร่วมือกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund หรือ WWF) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการประมงที่ยั่งยืน (Sustainable Fisheries Partnership หรือ SFP) เพื่อให้ร่างแผนการดำเนินการของประเทศมีกรอบ แผนพัฒนาและแนวทางปฏิบัติเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยทั้ง 2 องค์กร จะมีการนำเสนอแผนพัฒนาโดยใช้มาตรฐานของโครงการปรับปรุงการประมง (Fishery Improvement Project หรือ FIP) เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธุ์นี้ และจะมีการนำร่างดังกล่าวมาพิจารณาร่วมกันกับทุกภาคส่วน (ภาครัฐ เอกชน และNGO) เพื่อประเมินสถานการณ์ประมงเทียบกับมาตรฐานความยั่งยืนการประมง เพื่อสรุปปัญหาและแนวทางแก้ไขในเดือนเมษายน หลังจากนั้นจะจัดทำเป็นแผนการทำงานและประกาศเป็นแผนปฏิบัติการได้ตามเป้าหมายในเดือนกรกฎาคม
การจัดทำแผนการดำเนินการดังกล่าว เป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของสมาคมฯ หลังจากที่ได้มีการลงนาม บันทึกข้อตกลง(MOU)ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงของไทย ร่วมกับ 8 สมาคมประมงที่เกี่ยวข้อง เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยสมาคมประมงที่ร่วมลงนาม MoU ประกอบด้วย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย
สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ซึ่งมีเจตนารมย์ร่วมกันในการที่จะ “ส่งเสริมให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงของไทยมีความ ปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน ตลอดห่วงโซ่อุปทาน”
“สมาคมฯเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการตามแผนงานได้ภายในเดือนสิงหาคมปีนี้ และจะมีการตรวจติดตามความคืบหน้าและสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายของการทำประมงอย่างยั่งยืนในอีก 5 ปีข้างหน้า” นายพรศิลป์ กล่าว นายพรศิลป์ ย้ำว่า การดำเนินการตามแผนการทำงานนี้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและต้องปฏิบัติอย่างพร้อมเพรียงกันตลอดห่วงโซ่การผลิต (supply chain) เริ่มตั้งแต่ชาวประมง ผู้ผลิตอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง มิฉะนั้นจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน โดยไม่จับปลาที่ขนาดเล็ก ใช้เครื่องมือจับปลาที่ได้มาตรฐานและไม่จับปลาจากแหล่งที่ผิดกฏหมาย
“อุตสาหกรรมประมงของไทยมีความซับซ้อนมีทั้งประมงพื้นบ้านและประมงเชิงพาณิชย์ เราจะต้องหาจุดที่สามารถประสานประโยชน์ร่วมกันได้ ไม่ใช่ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งทำ หรือ ภาคการผลิตใดทำก่อน เพื่อเป็นหลักประกันให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมีรายได้” นายพรศิลป์ กล่าวและว่า หากภาคธุรกิจต้องการเอาตัวรอดก็จะหันไปนำเข้าวัตถุดิบปลาป่นจากต่างประเทศกันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ประเทศไทยมีการทำข้อตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู และ ไทย-ชิลี ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาป่นรายใหญ่ของโลก ซึ่งจะได้ประโยชน์จากอัตราภาษีต่ำด้วย ก็อาจจะทำให้อุตสาหกรรมประมงต้องเผชิญปัญหา แต่ภาคเอกชนจะไม่ทำอย่างนั้น
“เราต้องการให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีการแบ่งปันในระบบเศรษฐกิจร่วมกัน หากเราภาคเอกชนเห็นแก่ตัวก็ทำได้โดยไปจับมือกับเปรูและโบกมืออำลาประเทศไทย” นายพรศิลป์ กล่าว
นายพรศิลป์ กล่าวต่อไปว่า ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองแตกแยกในประเทศไทยขณะนี้ เป็นแรงกดดันให้ภาคเอกชนต้องปรับแผนธุรกิจและมีการพัฒนามากกว่าปกติ เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น อุตสาหกรรมการประมงก็เป็นหนึ่งที่จะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและมีมาตรฐานสากลมารองรับ เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit