นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ระยะนี้บางพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2556 – 6 กุมภาพันธ์ 2557 มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว 9 จังหวัด รวม 33 อำเภอ 202 ตำบล 1,934 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ และสุโขทัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ขอนแก่น และศรีสะเกษ ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี ซึ่ง ปภ.ได้เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานจังหวัดสำรวจปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง
เพื่อสนับสนุนการสูบน้ำดิบเข้าสู่ระบบประปาหมู่บ้านและถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านให้ประชาชนในพื้นที่ใช้อุปโภคบริโภคและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ จากการประสานข้อมูลสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ทั้งหมดรวมกัน 47,654 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯ โดยมีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ 24,151 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 52 มากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีปริมาตรน้ำ 44,891 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 64 จำนวน 2,763 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำในเขื่อนซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำกักเก็บรวม 12,885 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำร้อยละ 49 ของความจุอ่าง ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ประกอบกับขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวมีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยเฉพาะการทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกินกว่าแผนที่กำหนดกว่า 2 เท่า คิดเป็นร้อยละ 201 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ จึงขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เตรียมสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค เกษตรกรควรงดทำ นาปรัง เพื่อป้องกันนาข้าวได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ พร้อมวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่ โดยเลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยทดแทน เพื่อให้สามารถใช้น้ำที่มีอยู่จำกัดได้อย่างเพียงพอ ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป