ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติร่วมกับ จัดงานแถลงข่าวเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล“เปิดสถานการณ์เด่นเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติและครอบครัวในพ.ศ. 2556”MIGRATION “IS NOT” CRIME “การย้ายถิ่นไม่ใช่อาชญากรรม”เพื่อให้สังคมไทยรับทราบนโยบายและข้อมูลการจัดการแรงงานข้ามชาติและสถานการณ์การย้ายถิ่น รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย ใน 5 ประเด็นหลัก คือ สถานการณ์ของเด็กข้ามชาติในประเทศไทย การศึกษาของเด็กข้ามชาติระบบประกันสุขภาพและประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติ อุบัติเหตุจากการเดินทางของแรงงานข้ามชาติ และการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ กฎหมาย นโยบาย และการเข้าถึง
น.ส.วรางคณา มุทุมล ผู้ประสานงานองค์การช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทยกล่าวถึงสถานการณ์ของเด็กข้ามชาติในประเทศไทยว่า ยังมีความน่าเป็นห่วงอยู่หลายประเด็น เพราะนโยบายเกี่ยวกับสถานะบุคคลของเด็กยังไม่มีความชัดเจน โดยเด็กที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติมีเพียง 3,335 คน จากเด็กข้ามชาติกว่า 300,000 คน และเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ของเด็กที่อาศัยในประเทศไทยอยู่อย่างไม่ถูกกฎหมายมีมากถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเด็กในจำนวนนี้ต้องกลายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ทั้งนี้จากสถิติข้อมูลรายงานสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประจำปีพ.ศ. 2555 ระบุตัวเลขของเด็กต่างชาติอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์แบ่งเป็นประเทศพม่า 159 คน ประเทศกัมพูชา 63 คน ประเทศ ลาว 73 คน ซึ่งเด็กเหล่านี้จะถูกบังคับให้มาค้าประเวณี บังคับให้ขอทาน และถูกบังคับเป็นแรงงานเด็ก ดังนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการและข้อกฎหมายที่จะช่วยทำให้เด็กข้ามชาติมีสิทธิอาศัยอย่างถูกต้องในประเทศไทยเพื่อให้เด็กหลุดพ้นจากกระบวนการค้ามนุษย์และถูกบังคับใช้เป็นแรงงานเด็ก คือ 1. กลุ่มเด็กข้ามชาติที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ในประเทศไทยรัฐบาลไทยควรดำเนินการผ่อนผันให้เด็กได้รับการดำเนินการพิสูจน์สถานะและสัญชาติกับประเทศต้นทางโดยให้ผู้ปกครองหรือคนที่ดูแลเด็กในปัจจุบันเป็นผู้ยื่นเอกสารกับตัวแทนประเทศต้นทางในประเทศไทย 2. กรณีเด็กข้ามชาติที่นายจ้างไม่ยื่นเอกสารพร้อมพ่อแม่ รัฐบาลและกระทรวงแรงงานควรเปิดให้พ่อแม่ของเด็กสามารถยื่นเอกสารลูกเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาสถานะตามมติคณะรัฐมนตรีได้ 3. กรณีเด็กข้ามชาติที่อายุไม่เกิน 15 ปี แต่ไม่อยู่ในกระบวนการจ้างแรงงานรัฐบาลไทยควรเปิดให้เด็กกลุ่มนี้ยื่นเอกสารในฐานะบุตรของแรงงานข้ามชาติเพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสถานะและสัญชาติกับประเทศต้นทางต่อไป 4. กรณีเด็กข้ามชาติที่พ่อแม่ได้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติไปก่อนหน้านี้แล้วรัฐบาลควรมีคณะรัฐมนตรีผ่อนผันและให้เด็กได้เข้าสู่กระบวนการยื่นเอกสารเพื่อขอปรับสถานะและสัญชาติกับประเทศต้นทางและอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราว ตามระยะเวลาที่พ่อแม่ได้รับอนุญาตต่อไปด้วย
นายมงคล สุวรรณศิริศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อพัฒนาเยาวชนชนบท กล่าวถึงสถานการณ์การศึกษาของเด็กข้ามชาติว่า ปี พ.ศ.2548 คณะรัฐมนตรีได้อนุญาตให้เด็กทุกคนในประเทศไทยได้เข้าเรียน โดยมีการออกเป็นระเบียบมติคณะรัฐมนตรี แต่จากสถิติปัจจุบันมีลูกหลานแรงงานข้ามชาติเพียง56,582 คน ที่เข้าถึงการศึกษาโดยแบ่งเป็นระดับก่อนประถมศึกษา15,034 คน ระดับประถมศึกษา 40,689 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 5,366 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 859 คน ซึ่งหมายความว่ามีเด็กข้ามชาติที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาของรัฐถึง 238,052 คน คิดเป็นร้อยละ 79 นอกจากการศึกษาสำหรับลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่จัดโดยภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนยังได้ร่วมจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ (Learning center or migrants school) ซึ่งจะเป็นศูนย์ที่สร้างการเรียนรู้เรื่องการศึกษาที่เหมาะสมกับลูกหลานแรงงานข้ามชาติ และมีการจัดการศึกษาที่ทำร่วมกับโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ของลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่เรียกว่า school within school อีกด้วย แต่รูปแบบการศึกษายังไม่ได้รับการรับรองและได้รับวุฒิบัตรจากภาครัฐ อีกทั้งยังมีจำนวนน้อยและไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ดังนั้นรัฐควรออกกฎระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติเข้าถึงระบบการศึกษาในระบบและนอกระบบอย่างแท้จริง ให้การรับรองและออกวุฒิบัตรรับรองให้กับลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ศึกษาในศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้สามารถเทียบโอนผลการศึกษาได้ เชื่อมโยงผลการเรียนระหว่างประเทศหากลูกหลานแรงงานข้ามชาติเดินทางกลับไปยังประเทศต้นทาง นอกจากนี้รัฐควรจัดทำข้อตกลงร่วมกันในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถร่วมจัดการศึกษาในฐานะภาคีเครือข่ายทั้งในส่วนของบุคลากรผู้สอนและหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาให้กับลูกหลานแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งยังสามารถป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็กในอีกทางหนึ่งด้วย
ขณะที่นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติกล่าวถึงระบบประกันสุขภาพและประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติว่าปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบ 493,324 คน แต่มีเพียง 253,519 คน หรือประมาณร้อยละ 51 ที่เข้าถึงหลักประกันสุขภาพตามนโยบายของรัฐบาล และมีจำนวน 239,262 ที่เข้าไม่ถึงประกันสุขภาพอย่างไรก็ตามแม้มติคณะรัฐมนตรีจะระบุถึงการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติไว้แล้ว หากแต่ในการปฏิบัติยังมีประเด็นปัญหาที่ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพได้อย่างแท้จริงอาทิ สถานพยาบาลอีกจำนวนมากที่ไม่ยอมขายประกันสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากประเมินเรื่องความไม่คุ้มทุน และแรงงานต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงจึงทำให้แรงงานจำนวนมากไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพหรือจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมได้ โดยแรงงานข้ามชาติที่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคมนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่าย 1,150 บาทต่อคน ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมจะต้องเสียค่าใช้จ่าย 2,850 บาทต่อปี และเด็กอายุไม่เกิน 7 ปีต้องเสียค่าใช้จ่าย 365 บาท ดังนั้นวันนี้จึงต้องตั้งคำถามกลับไปยังภาครัฐว่า จุดประสงค์แท้จริงที่รัฐออกนโยบายนี้มาเพียงเพื่อต้องการหากำไรจากนโยบายดังกล่าว หรือต้องการให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเข้าถึงระบบประกันสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ดังนั้นอยากเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลระบบประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติในระดับชาติขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งควรมีการทำงานในเชิงรุก คือรณรงค์ให้ความรู้กับแรงงานข้ามชาติให้รับรู้ถึงสิทธิของตนเอง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติอีกด้วย
นายอดิศรยังได้กล่าวถึงประเด็นอุบัติเหตุจากการเดินทางของแรงงานข้ามชาติอีกด้วยว่า จากการศึกษาข่าวอุบัติเหตุในการเดินทางของแรงงานข้ามชาติทีเกิดขึ้นในช่วง 22 เดือนระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 31 ต.ค. 2556 ในหนังสือพิมพ์ 14 ฉบับ และเว็บไซต์ข่าว 3 เว็บไซด์พบประเด็นที่สำคัญดังนี้ การเกิดอุบัติเหตุในการเดินทางของแรงงานข้ามชาตินั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานจำนวน 910 คน โดยมีสัดส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บ 445 คน และเสียชีวิต 86 คน และเมื่อมีการพิจารณาสัดส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บพบว่ามีผู้หญิงสูงมากว่าผู้ชายถึง 35.71 เปอร์เซ็นต์ และเด็กร้อยละ 10.12 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กลุ่มผู้เสียชีวิตเป็นผู้หญิงมากถึงร้อยละ 50 และเป็นเด็กร้อยละ 2.44 จากสถิตินี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแรงงานที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้นไม่ได้มีเพียงผู้ชาย หากรวมถึงแรงงานหญิงและเด็ก ซึ่งมีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงกว่าผู้ชายด้วยนอกจากนี้ยังพบว่าแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารจะประสบอุบัติเหตุจากการเดินทางเป็นจำนวนที่มากกว่าแรงงานที่มีเอกสารครบถ้วน โดยเฉพาะในสัดส่วนของการเกิดอุบัติเหตุจากการหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งได้แก่การฝ่าด่านจนรถคว่ำ การชนจนกลิ้งตกคลอง มีสัดส่วนสูงมากถึงร้อยละ 34.78 ของกรณีที่เกิดขึ้นกับแรงงานนอกระบบทั้งหมด และยังมีกรณีของการเกิดอุบัติเหตุจากสภาพยานพาหนะไม่เหมาะสมอีกด้วย กรณีของการเกิดอุบุติเหตุต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลไทยมุ่งเน้นแต่พัฒนานโยบายการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ จนทำให้มองข้ามลักษณะเฉพาะของการย้ายถิ่นในภูมิภาคนี้ที่จะมีการย้ายถิ่นในลักษณะที่เป็นครอบครัว
“สิ่งที่สำคัญจากข้อมูลที่พบจะเห็นได้ว่า รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ใส่ใจหรือเอาจริงเอาจังกับการดูแลและเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุให้เป็นไปตามกฎหมายส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมายาคติต่อผู้ย้ายถิ่นที่ไม่มีเอกสาร ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่าการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุของแรงงานข้ามชาตินั้นจะเน้นการนำเสนอข่าวหรือประเด็นที่เป็นปรากฏการณ์เฉพาะแค่เหตุการณ์อุบัติเหตุ ไม่ได้ติดตามไปถึงกระบวนการการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ หรือสะท้อนถึงรากฐานของปัญหาการย้ายถิ่นที่เป็นปัจจัยให้เกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้งอย่างจริงจังมากนัก ซึ่งสิ่งที่สำคัญในการแก้ไขประเด็นปัญหาเหล่านี้คือแรงงานข้ามชาติไม่ควรจะถูกเพ่งมองแต่แง่มุมที่เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย จนบดบังความเป็นเหยื่อของสถานการณ์ที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาทางการกฎหมายและมนุษยธรรม ควรติดตามกระบวนการช่วยเหลือภายหลังจากเกิดอุบัติให้กับแรงานข้ามชาติอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
ด้าน นางสาวเอมาโฉ่ ตัวแทนมูลนิธิสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา กล่าวถึงการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ว่า ที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับแรงงานข้ามชาติใน 3 พื้นที่ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.สมุทรสาคร และ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยพบปัญหาและการร้องเรียนส่วนใหญ่ในประเด็นการเข้าถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน อุบัติเหตุจากการทำงาน อุบัติเหตุจากรถยนต์ ปัญหาจากนายหน้าเรื่องใบแจ้งเกิด ปัญหาค่าแรง ค่าจ้างจากการเลิกจ้าง ใบแจ้งออก และการยึดหนังสือเดินทาง และการเข้าถึงสิทธิประกันสังคม รวมทั้งสิ้น 197 คดี และอยู่ระหว่างดำเนินการ 60 คดี และดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 137 คดี โดยปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และกลไกการบังคับใช้กฎหมายยังมีปัญหา เพราะไม่สามารถเอื้อให้มีการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพกับแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นเราจึงมีข้อเสนอแนะเพื่อให้รัฐบาลปรับปรุงข้อกฎหมายและวิธีการให้สามารถช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพดังนี้ 1.ควรออกนโยบายในการจัดหาล่ามประจำสำนักงานคุ้มครองแรงงานในทุกสำนักงานทั่วประเทศ 2.กำหนดให้แรงงานที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคุ้มครองแรงงาน แม้จะมีสถานะเข้าเมืองที่ไม่ถูกกฎหมายควรได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้เป็นการชั่วคราว จนกว่ากระบวนการให้ความช่วยเหลือจากฝ่ายรัฐจะสิ้นสุดลง 3.กำหนดแนวทางให้แรงงานเกษตรหรือแรงงานประมงสามารถเข้าถึงกองทุนเงินประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนเพื่อเป็นหลักประกันขั้นต่ำให้กับแรงงานทุกคนโดยไม่เลือกประเภทของแรงงานที่จะได้รับความคุ้มครอง 4.การเปลี่ยนนายจ้างของลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ที่ในความเป็นจริงแรงงานข้ามชาติจะไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้จนกว่าจะทำงานครบสัญญาหรือใบอนุญาตการทำงานกับนายจ้างคนเดิมจะหมดอายุ และการเปลี่ยนตัวนายจ้างนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากนายจ้างด้วย ซึ่งหากนายจ้างกระทำการที่เป็นการละเมิดสิทธิของนายจ้าง เช่น บังคับใช้แรงงาน หรือทำร้ายร่างการ โอกาสที่จะให้นายจ้างยินยอมคงเป็นไปไม่ได้