นายธนันทร์เอก หวานฉ่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ เรียลตี้ แมเนจเม้นท์ จากัด (IRM) และอดีตนายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงแผนการตลาดในปี 2557 ว่า นอกจากตลาดในกรุงเทพฯ แล้วในปีหน้าบริษัทฯ ได้กำหนดกลยุทธ์การให้บริการไปต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเน้นไปที่ภาคเหนือและภาคอีสาน เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการจำนวนมากได้ไปพัฒนาโครงการใหม่ ๆ หลายแห่ง หลังจากที่สร้างเสร็จและมีผู้เข้าอยู่อาศัยจึงต้องการนักบริหารชุมชนเข้าไปทำหน้าที่เช่นเดียวกับตลาดในกรุงเทพฯ ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้เข้าไปทดลองตลาดในภาคอีสาน โดยได้รับความไว้วางใจจากบมจ.ซีพีแลนด์ เข้าไปบริหารโครงการกัลปพฤกษ์ เลควิลล์ ขอนแก่น และขณะนี้ได้บริหารโครงการคอนโดมิเนียมในจังหวัดดังกล่าวทั้งสิ้น 6 อาคาร และมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ทยอยเข้ามาใช้บริการมากขึ้น โดยในปี 2557 นี้มีแผนที่จะเปิดสาขาที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อรองรับความต้องการของโครงการอสังหาทรัพย์ในภาคอีสาน
นอกจากนี้แล้วยังมีแผนที่จะเปิดสาขาเชียงใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภาคเหนือ เพราะนอกจากเชียงใหม่แล้วจังหวัดอื่น ๆ ที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมและศูนย์กลางด้านการลงทุน มีแนวโน้มว่าภายใน1-3 ปีข้างหน้าจะมีโครงการที่อยู่อาศัยประเภทต่าง ๆ สร้างเสร็จ และต้องการผู้ที่มีประสบการณ์เข้าไปทำหน้าที่บริหารชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มาจากส่วนกลางและให้ความสำคัญกับการบริหารหลังการขาย ทั้งยังทราบดีว่าเมื่อขายหมดแล้วจะต้องส่งไม้ต่อให้กับนักพัฒนาชุมชนและอาคาร ในขณะเดียวกันในท้องถิ่นยังขาดผู้ที่มีประสบการณ์เข้ารองรับการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงมั่นใจว่าการเปิดสาขาทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ จะได้รับการยอมรับจากจากผู้ประกอการในท้องถิ่นเป็นอย่างดี เนื่องจากที่ผ่านมาการบริหารกันเองของคนในท้องถิ่น ยังไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการได้อย่างเต็มที่ และส่วนใหญ่ได้พบกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งเรื่องความไม่เข้าใจกฎหมายและกฎกติกาได้ของการอยู่ร่วมกันภายใต้พ.ร.บ.อาคารชุดและบ้านจัดสรร
นายธนันทร์เอกเปิดเผยเพิ่มเติมว่า IRM ต้องการเข้าไปทำงานเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการต่าง ๆ สัมผัสได้ถึงความคุ้มค่าและทำให้เกิดความพึงพอใจ เนื่องจากการบริหารและจัดการกันเองเหมือนในอดีตจะไม่สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยร่วมกันในชุมชนขนาดใหญ่ได้อีกต่อไป เพราะปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะต้องได้รับการแก้ไขภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังต้องให้ความรู้กับผู้ที่อยู่อาศัยในกรณีมีข้อสงสัยและการร้องเรียนต่าง ๆ ดังนั้น หากไม่รู้กฎหมายและหลักเกณฑ์ในการบริหารชุมชน จะทำให้การทำงานไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์
“ไม่ว่าจะเป็นบริหารโครงการในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดก็ตาม ผู้อยู่อาศัยในโครงการมีความหลากหลาย และส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจถึงกฎกติกาและเงื่อนไขการอยู่ร่วมกันในชุมชนและอาคาร โดยเฉพาะเรื่องค่าส่วนกลาง ฯลฯ ดังนั้น นักบริหารจะต้องมีประสบการณ์และความรู้เพียงพอในการทำให้ทุกคนในโครงการยอมจ่าย โดยเฉพาะโครงการอาคารชุดที่ผู้ซื้อไม่ได้อยู่อาศัยจริงมักจะมีปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เจ้าของโครงการรุ่นใหม่เข้าใจและให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารชุมชน และตัดสินใจเลือกบริษัทที่มีประสบการณ์เข้ามาทำงาน เนื่องจากในอนาคตกฎหมายจะระบุให้ทุกนิติบุคคลของหมู่บ้านและอาคารต้องมีองค์กรเข้าไปบริหารและจัดการ และบังคับให้จ้างผู้ที่ผ่านการอบรมและมีความรู้ในวิชาชีพการบริหารชุมชนและอาคาร เช่นเดียวกับประเทศในยุโรปที่กฎหมายระบุให้ทุกอาคารจะต้องมีนักบริหารที่มีใบประกอบวิชาชีพเข้ามาทำงาน” นายธนันทร์เอกกล่าว