กิจกรรมการเรียนรู้สองภาษา พัฒนาเด็กเล็กอย่างไร

12 Dec 2013
ผู้ปกครองหลายท่านอาจมีความสงสัยว่าเมื่อส่งลูกเรียนในโรงเรียนสองภาษาตั้งแต่ยังเล็ก ลูกจะสับสนกับการใช้ภาษาหรือไม่ และพัฒนาการจะดีหรือเปล่า อ่านออกเขียนได้หรือไม่ เหล่านี้เป็นคำถามที่เชื่อว่ามีในใจของผู้ปกครองยุคใหม่หลายๆท่านที่กำลังมองหาโรงเรียนที่เหมาะสมให้กับลูกๆ อย่างแน่นอน

อาจารย์สุวาทินี สลีอ่อน อาจารย์โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิตมีคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจโรงเรียนในรูปแบบสองภาษา โดยทั่วไปแล้วโรงเรียนจะมีเกณฑ์มาตรฐานในการวัดคุณภาพที่ตัวผู้เรียนไม่ว่าจะเป็น การวัดพัฒนาการทางด้านร่างกาย พัฒนาการทางด้านอารมณ์ พัฒนาการทางด้านสังคม และพัฒนาการทางด้านสติปัญญา เกณฑ์เหล่านี้โรงเรียนจะเป็นผู้ประเมินนักเรียนว่าพัฒนาการแต่ละด้าน มีความพร้อมในการที่จะเรียนรู้ในระดับชั้นที่สูงขึ้นต่อไปหรือไม่ ซึ่งเกณฑ์เหล่านี้โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิตมีการวิเคราะห์และศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียน รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่องพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการระดับการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเหมาะสมโดย การวิเคราะห์ผู้เรียนอย่างเป็นระบบ(Process- based Methodology) ในระดับชั้นอนุบาลนั้นครูผู้สอนจะมีการกำหนดหัวข้อของกิจกรรมที่อยู่ในความสนใจของเด็ก และมีความเหมาะสมในทุกสัปดาห์ การเรียนรู้ของเด็กนั้นจะเริ่มเรียนรู้จากตัวเด็กเอง แล้วต่อด้วยสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเด็กทั้งภายในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ในแต่ละสัปดาห์ครูผู้สอนจะกำหนดเรื่องที่จะเรียนให้สอดคล้องกับความต้องการการเรียนรู้ของเด็กโดยจัดให้สอดคล้องกันในแต่ละสัปดาห์ และทุกระดับชั้นเรียน เช่น การเรียนรู้หัวข้อร่างกายของเราในทุกระดับชั้นตั้งแต่ เตรียมอนุบาลไปถึงอนุบาล 3 เด็กจะเรียนรู้หัวข้อเดียวกันแต่มีความแตกต่างในเรื่องของรายละเอียดและเชิงลึกของเนื้อหาและความสามารถในการับรู้ของผู้เรียนแต่ละระดับชั้น กล่าวคือในระดับชั้นเตรียมอนุบาลหัวข้อร่างกายของเรา เด็กๆจะเริ่มต้นจากการฟัง รู้จักร่างกายของเราจากกิจกรรมที่คุณครูเตรียมให้ รู้จักว่าร่างกายของเรามีแขน ขา มือ ตา หู จมูก ปาก เป็นต้น เด็กวัยนี้ยังไม่จำเป็นต้องคิดหรือวิเคราะห์จึงเหมาะแก่การฟัง และการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กให้แข็งแรง เมื่อเข้าสู่ระดับชั้นอนุบาล 1 นักเรียนจะเรียนรู้โดยคุณครูจะสอดแทรกความรู้ที่ลึกและกว้างขึ้น เช่น ร่างกายของเรามีตากี่คู่ มีแขน ขา เท่าไร ในวิชาคณิตศาสตร์ ด้านภาษาจะเริ่มมีการออกเสียงมากขึ้น ต่อมาระดับชั้นอนุบาล 2 หัวข้อเดียวกันนักเรียนเริ่มต้องมีการคิดและวิเคราะห์ โดยสามารถที่จะเข้าใจว่าร่างกายของเรามีองค์ประกอบอะไรบ้าง รวมเป็นเท่าไร และสามารถที่จะจดจำคำศัพท์ได้ด้วย และสุดท้ายระดับชั้นอนุบาล 3 จะไม่เพียงแค่ฟัง ออกเสียง จำคำศัพท์ได้เท่านั้นนักเรียนจะเรียนรู้ที่ลึกขึ้น สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าองค์ประกอบในร่างกายของเรามีหน้าที่อะไรบ้าง เหล่านี้คุณครูจะกำหนดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้คิด และแสดงความคิดเห็นนั่นเอง จะเห็นได้ว่าเด็กๆ ไม่เพียงแต่จะได้ความรู้แค่คำศัพท์ภาษาไทย และภาษาอังกฤษแล้ว แต่จะได้พัฒนาร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาจากกิจกรรมที่คุณครูกำหนดให้ไปพร้อมกันอีกด้วย ที่สำคัญการเรียนรู้ทั้งหมดนั้นนักเรียนจะเรียนได้จากสภาพจริงที่ผู้เรียนสามารถจดจำและเข้าใจจากสภาพจริง อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเรียนรู้เกี่ยวกับพืชและสวนผู้เรียนจะเริ่มต้นเรียนรู้จากแผ่นภาพ และการแสดงภาพจากคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นผู้เรียนจะออกไปเรียนนอกสถานที่ที่ทางโรงเรียนกำหนดให้มีโครงการดังกล่าวเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงในทุกระดับชั้นตั้งแต่เตรียมอนุบาลจนถึงระดับชั้นอนุบาล 3

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถที่จะร่วมเรียนรู้ และเฝ้าดูพัฒนาการของลูกๆได้จากรายงานพัฒนาการประจำวัน การวิจัยในชั้นเรียนของคุณครูประจำชั้น ที่จะคอยสรุปและให้ข้อมูลการพัฒนาการในด้านต่างๆ ของลูกได้ในแต่ละช่วง และคุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะประเมินการฟัง พูด อ่าน หรือเขียนได้ในระดับไหน ด้วยเช่นกัน