เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินหน้าขยายพื้นที่บังคับใช้กฎหมายกับองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง โดยเข้าตรวจค้นบริษัทเจ็ดแห่งในเชียงใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในการดำเนินธุรกิจมูลค่ารวม 7.8 ล้านบาท
กลยุทธ์ดังกล่าวช่วยเพิ่มจำนวนคดีจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์เพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ มีองค์กรธุรกิจที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์แล้วเกือบ 300 แห่งในปีนี้ การเข้าตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจในปี 2556 นี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ และการเข้าตรวจค้นในเชียงใหม่คือการส่งสัญญาณการบังคับใช้กฎหมายเพื่อต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในระดับประเทศ
สำหรับบริษัทที่ถูกเข้าตรวจค้นในเชียงใหม่ มีสามบริษัทดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หนึ่งในนั้นมีผลประกอบการมากกว่า 500 ล้านบาทต่อปี บริษัทที่เหลืออยู่ในภาคการผลิตและก่อสร้างที่มีผลประกอบการรวมกันเฉลี่ยราว 223.5 ล้านบาทต่อปี ทุกบริษัทถูกพบว่าใช้ซอฟต์แวร์ออโต้เดสก์ (Autodesk) อย่างผิดกฎหมาย
“เราขอให้ผู้บริหารขององค์กรธุรกิจจัดการการใช้ซอฟต์แวร์ด้วยความระมัดระวัง และแน่ใจว่าใช้ซอฟต์แวร์ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์อย่างถูกต้องครบถ้วน และไม่ใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่ได้รับอนุญาต การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการทำธุรกิจ รวมถึงความสัมพันธ์กับคู่ค้าในระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และความเสี่ยงเรื่องความรับผิดทางกฎหมาย เป็นเรื่องไม่คุ้มที่ธุรกิจต้องมาเสี่ยงไปกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจในภาคการผลิต ขณะเดียวกัน หากต้องการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับโลก เราแนะนำให้องค์กรธุรกิจใช้ซอฟต์แวร์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างถูกต้อง” พันตำรวจเอก ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)กล่าว
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยามยามให้ความรู้เรื่องการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องแก่องค์กรธุรกิจในภาคการผลิตมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ขอให้ผู้ผลิตรักษาโอกาสในการส่งออกของตนเองไว้ โดยให้มีแนวทางการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่ดี และไม่ทำผิดกฎหมายลิขสิทธิ์
“องค์กรธุรกิจผู้ผลิตหลายแห่งต้องพึ่งพาการใช้ซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี ดังนั้น เราจึงขอให้พวกเขาตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ และไม่ใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่ได้รับอนุญาต” พันตำรวจเอก ชัยณรงค์ กล่าว
เนื่องจากประเทศไทยยังคงอยู่ในรายชื่อที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List) โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (Office of the United States Trade Representative) เจ้าหน้าที่ตำรวจึงได้เร่งบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เพิ่มการเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูงเกือบสองเท่า จาก 179 แห่งในปี 2555 เป็นเกือบ 300 แห่งในปี 2556 เจ้าหน้าที่ยังระบุด้วยว่าในปี 2557 จะเห็นตัวเลขเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์จากปีนี้
การปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้มงวดมากขึ้นนั้นดำเนินควบคู่ไปกับคำแถลงของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ประกาศให้ปี 2556 เป็นปีแห่งการต่อต้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย
ภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 การละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทนสูงสุด 250,000 บาท และข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกปิดไว้เป็นความลับ สามารถแจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ได้โดยโทรไปที่สายด่วนพันธมิตรซอฟต์แวร์ (BSA Hotline) 02-714-1010 หรือรายงานทางออนไลน์ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าชมได้ที่ www.stop.in.thข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ:กันยารัตน์ ถือเหมาะวีโร่ พับลิค รีเลชั่นส์+66 0 2684 1551-2 ต่อ [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit