กองบรรณาธิการนิตยสาร “ดอกเบี้ย” และหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ประกาศยกย่อง ‘ลักษณ์ วจนานวัช’ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ได้รับรางวัลเกียรติยศ นักการธนาคารแห่งปี 2556 หรือ Banker of the year 2013 หลังจากได้มีการพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์อย่างเข้มงวด จนที่สุดได้ข้อสรุปว่า ผู้บริหารสูงสุดของสถาบันการเงินที่เพิ่งได้รับการต่อวาระการดำรงแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแห่งนี้ เป็นผู้บริหารที่ในปี 2556 มี “งานหนัก” กว่าผู้นำการบริหารในสถาบันการเงินทุกแห่ง หากในงานที่หนักอึ้งเขากลับสามารถนำพานาวา ธ.ก.ส.เดินหน้าทำงานอย่างไม่ย่อท้อจนประสบความสำเร็จครบถ้วนในทุกด้าน
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ตลอดปี 2556 เป็นปีที่ ธ.ก.ส.ถูกมรสุมโหมกระหน่ำอย่างหนัก โดยเฉพาะประเด็นผลการขาดทุนจำนวนมหาศาลในโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ ธ.ก.ส.ที่เป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งในหลายๆ ฟันเฟืองของโครงการนี้ รวมทั้งยังทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อฐานะการดำเนินการตามปกติของธนาคาร
หากด้วยความตั้งใจของ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.ที่มีเป้าหมายเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของธนาคารอย่างโปร่งใส เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า โครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในธุรกิจปกติของธนาคาร
โดยในแง่การเติบโต ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ธนาคารมียอดสินทรัพย์รวม 1,291,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 96,470 ล้านบาท หรือ 8.07% ขณะที่ ธ.ก.ส.ซึ่งมีบทบาทเป็นสถาบันการเงินเพื่อการออมอีกแห่งหนึ่งด้วย เป็นปีแรกที่ธนาคารมียอดเงินฝากรวมทะลุ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ยอดเงินฝากรวมอยู่ที่ 1,043,565 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปี บัญชี 42,708 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.27% (ปีบัญชีของ ธ.ก.ส.แตกต่างจากสถาบันการเงินแห่งอื่น ต้นปีบัญชีเริ่มนับจากวันที่ 1 เมษายนและสิ้นปีบัญชีวันที่ 31 มีนาคม)
ขณะที่การให้สินเชื่อ ซึ่งในนิยามของ ธ.ก.ส.หมายถึงการให้ทุนเพื่อพัฒนาเกษตรกรและชนบท ในเดือนพฤศจิกายน ธนาคารมียอดสินเชื่อรวม 938,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103,500 ล้านบาท หรือ 12.40% จากต้นปีบัญชี ซึ่งยอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากยอดลูกหนี้บัตรสินเชื่อเกษตรกร สินเชื่อเพื่อการผลิตพืชและการเลี้ยงสัตว์ หากเปรียบเทียบกับเป้าหมายของเดือนพฤศจิกายน 2556 ธ.ก.ส.ดำเนินการได้สูงกว่าเป้าหมาย 95.39% โดยถ้านับเป็นจำนวนลูกค้า ธ.ก.ส.มีลูกค้าเกษตรกร 5.67 ล้านครัวเรือน ลูกค้าสถาบันเกษตรกร 1.87 ล้านครัวเรือน และลูกค้ากลุ่มเกษตรกร 7,820 ครัวเรือน
ส่วนทางด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ของธนาคารเพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 25,755 ล้านบาทเป็น 58,521 ล้านบาท ทำให้อัตราส่วนเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเป็น 6.27% จากต้นปีอยู่ที่ 5.34% ซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างสำรวจเหตุผลว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำแล้วทำไมไม่ยอมชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ออกมาตรการปลดเปลื้องภาระหนี้สินให้แก่ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระ หนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือหนี้ดำเนินคดี รวมทั้งได้มีการติดตามหนี้ค้างชำระอย่างใกล้ชิด โดยการจัดหาสารสนเทศเพื่อบริหารหนี้ค้างชำระให้กับสาขา และในช่วงไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 ธนาคารมีโครงการขับเคลื่อนภาระกิจการแก้ไขหนี้ค้างชำระ ซึ่งคาดว่าสิ้นปีบัญชีอัตราเอ็นพีแอลจะเป็นไปตามเหมายที่ 4.23%
สำหรับผลประกอบการงวด 8 เดือน ธ.ก.ส.มีกำไรสุทธิ 6,032 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 237 ล้านบาท หรือ 4.09% เนื่องจากรายได้รวมเพิ่มขึ้น 3,450 ล้านบาท หรือ 7.95%
ขณะที่ความสำเร็จอีกด้าน คือ การดำเนินการโครงการบัตรสินเชื่อเกษตกร ซึ่งเป็นงานสินเชื่อปกติของ ธ.ก.ส. ธนาคารสามารถออกบัตรให้เกษตรกรได้ตามเป้าหมาย 4 ล้านใบ โดยถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน มียอดการออกบัตรทั้งสิ้น 4,156,862 บัตร ลูกค้าเปิดใช้งาน 4,063,087 บัตร การใช้บัตรซื้อสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตมีจำนวน 24,614.30 ล้านบาท น้อยกว่าที่ธนาคารเตรียมสินเชื่อรองรับที่ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งสะท้อนได้ว่าบัตรสินเชื่อเกษตรกรไม่ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นหนี้โดยไม่จำเป็น หรือเกษตรกรไม่ได้ใช้บัตรก่อหนี้สะเปะสะปะ
ด้านจำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการบัตรสินเชื่อฯ มีจำนวน 11,685 ร้านค้า และมีการติดตั้งเครื่องอ่านบัตรอิเล็กทรอกนิกส์ (EDC) ให้ร้านค้า สกต. (สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด ธ.ก.ส.) ร้านค้าเอกชนในท้องถิ่น และสถานีบริการน้ำมันในโครงการรวมทั้งสิ้น 8,391 เครื่อง ขณะเดียวกันมีการดูแลคุณภาพสินค้าและราคาสินค้าที่ขายผ่านบัตร ซึ่งได้รับการรับรองตามโครงการ Q Shop จำนวน 484 ร้านค้า อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,606 ร้านค้า และมีเอกชนที่ขายปัจจัยการผลิตเข้าเป็นพันธมิตรของโครงการแล้ว 28 บริษัท
นอกจากการดำเนินงานในธุรกิจธนาคารและการสนองนโยบายภาครัฐประสบความสำเร็จ ลักษณ์ วจนานวัช ยังเดินหน้าโครงการตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ซึ่งแม้ว่าการให้สินเชื่อเกษตรกรไปประกอบอาชีพ พัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนจะเป็นการ CSR โดยปริยายอยู่แล้ว หากงานตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อมยังดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากงาน CSR ของ ธ.ก.ส.เป็นโครงการระยะยาวหลายปี ทำให้การดำเนินการด้าน CSR จึงยังอยู่ในแนวทางเรื่องโครงการธนาคารต้นไม้ โรงเรียนธนาคาร รวมทั้งการพัฒนาอาชีพและแหล่งทำกินของลูกค้าเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร
ด้วยผลงานที่ ลักษณ์ วจนานวัช ได้สร้างไว้อย่างโดดเด่นตลอดทั้งปี 2556 จึงไม่มีใครเหมาะสมไปกว่าเขาแล้วในการรับรางวัลเกรียติยศ นักการธนาคารแห่งปี 2556…Banker of the year 2013 (สำหรับรายละเอียดการประกาศรางวัลผลงานติดตามได้ในนิตยสารดอกเบี้ย ฉบับประจำเดือนธันวาคม ซึ่งจะออกวางตลาดในเร็วๆ นี้)
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ : บริษัท พีอาร์พีเดีย จำกัด โทร: 0-2438-9945
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit