นายสมชัยฯ สรุปว่า “แม้ว่ารัฐบาลจะจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลในปีงบประมาณ 2556 แต่จากการที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้เกินเป้าหมายและกองทุนนอกงบประมาณมีรายได้เพิ่มขึ้นมาก จึงส่งผลให้ฐานะการคลังภาคสาธารณะตามระบบ สศค. หรือ GFS เกินดุล 1.17 แสนล้านบาท”
ฐานะการคลังภาคสาธารณะ (รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ)
ตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายการคลัง (สศค. หรือ GFS)
ไตรมาสที่ 4 (กรกฎาคม – กันยายน 2556) และปีงบประมาณ 2556
ฐานะการคลังภาคสาธารณะในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2556 (กรกฏาคม–กันยายน 2556) มีรายได้ 1,906,529 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 30,490 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.6 เป็นผลจากรัฐวิสาหกิจมีรายได้ลดลงเป็นสำคัญ สำหรับผลการเบิกจ่ายมีทั้งสิ้น 1,866,922 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 155,209 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.7 ส่งผลให้ดุลการคลังภาคสาธารณะเกินดุล 39,607 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วขาดดุล 85,112 ล้านบาท
1.1 ฐานะการคลังรัฐบาล รัฐบาลมีรายได้รวม 707,460 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 15,715 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.3 ประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 620,121 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 16,653 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 14,579 และ 4,943 ล้านบาท ตามลำดับ และรายได้ของกองทุนนอกงบประมาณมีจำนวน 87,339 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 938 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีรายได้จากเงินอุดหนุนลดลง จำนวน 8,737 ล้านบาท
ด้านรายจ่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 666,058 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 37,164 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.3 ประกอบด้วยรายจ่ายรัฐบาล 594,293 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6,903 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการลดลงของรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4 มีรายจ่ายจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 4,006 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเบิกจ่ายด้านการพัฒนาด้านสาธารณสุข รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ 3,616 ล้านบาท เป็นการเบิกจ่ายของโครงการขนาดเล็ก เช่น การก่อสร้างคันกั้นน้ำ การขุดลอกคูคลอง เป็นต้น รายจ่ายตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (TKK) 3,164 ล้านบาท และรายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ 1,796 ล้านบาท สำหรับกองทุนนอกงบประมาณมีรายจ่าย 59,183 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 20,724 ล้านบาท เป็นผลจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีรายจ่ายดำเนินงานลดลง
ดุลการคลังของรัฐบาลในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2556 เกินดุล 41,402 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วขาดดุล 11,477 ล้านบาท
1.2 ฐานะการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อปท. จำนวน 7,853 แห่ง มีรายได้ 112,636 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 20,740 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.6 โดย อปท. มีรายได้จากการจัดสรรภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้ลดลง รวมถึงมีการจัดเก็บภาษีสุราและเบียร์ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีรายได้จากเงินอุดหนุนลดลง เนื่องจากมีการจัดสรรเงินอุดหนุนในช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นจำนวนมาก ทำให้ไตรมาสที่ 4 เหลือเพียงเล็กน้อย ในด้านรายจ่ายคาดว่า อปท. มีรายจ่ายจำนวน 160,205 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8,436 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.6 เป็นผลจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2556 จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลัง อปท. ขาดดุล 47,569 ล้านบาท
1.3 ฐานะการคลังของรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีรายได้จำนวน 1,173,923 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 55,537 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5 และมีรายจ่ายรวม 1,128,149 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 156,553 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.2 โดยรายจ่ายลงทุนที่สำคัญคือ โครงการจัดหาเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 3,106 ล้านบาท และโครงการลงทุนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,803 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจตามระบบ สศค. หรือ GFS เกินดุลทั้งสิ้น 45,774 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วขาดดุล 55,242 ล้านบาท
2. ฐานะการคลังภาคสาธารณะปีงบประมาณ 2556 เกินดุล 116,504 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกัน ปีที่แล้วขาดดุล 285,719 ล้านบาท โดยภาคสาธารณะมีรายได้รวม 7,440,775 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 586,775 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.6 สาเหตุหลักมาจากรัฐบาลจัดเก็บรายได้จากฐานการบริโภคและภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น สำหรับการเบิกจ่ายของภาคสาธารณะรวมทั้งสิ้น 7,324,271 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 184,552 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6
2.1 ฐานะการคลังรัฐบาล ปีงบประมาณ 2556 มีรายได้ 2,814,604 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 2,334,085 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 243,843 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.7 เป็นผลจากภาษีที่เก็บจากฐานการบริโภคและภาษีเงินได้สูงกว่าปีที่แล้วเป็นสำคัญ นอกจากนี้ กองทุนนอกงบประมาณมีรายได้รวม 480,519 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 129,617 ล้านบาท มีสาเหตุสำคัญจากกองทุนประกันสังคม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีรายได้เพิ่มขึ้น 56,406 36,083 และ 25,533 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับรายจ่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 2,909,555 ล้านบาท ประกอบด้วยรายจ่ายรัฐบาล 2,513,204 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 195,909 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.5 รายจ่ายเงินกู้ DPL จำนวน 14,998 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายด้านการพัฒนาด้านสาธารณสุข รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำจำนวน 13,738 ล้านบาท เป็นการเบิกจ่ายของโครงการขนาดเล็ก เช่น การก่อสร้างคันกั้นน้ำ การขุดลอกคูคลอง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายจ่าย TKK จำนวน 7,510 ล้านบาท และรายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ 3,015 ล้านบาท สำหรับรายจ่ายกองทุนนอกงบประมาณมีจำนวน 357,090 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 6,189 ล้านบาท เนื่องจากกองทุนประกันสังคมมีรายจ่ายผลประโยชน์เพื่อสังคมเพิ่มขึ้นจำนวน 3,857 ล้านบาท
ดุลการคลังของรัฐบาลปีงบประมาณ 2556 ขาดดุล 94,951 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วขาดดุล 270,778 ล้านบาท
2.2 ฐานะการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อปท. จำนวน 7,853 แห่ง มีรายได้รวม 533,225 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 36,271 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.3 เนื่องจากรายได้จากการจัดสรรภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้ รายได้จากเงินอุดหนุนและรายได้ที่ อปท. จัดเก็บเองเพิ่มขึ้นจำนวน 19,880 14,699 และ 1,642 ล้านบาท ตามลำดับ ในด้านรายจ่ายคาดว่า อปท. มีรายจ่ายจำนวน 497,871 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 44,501 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.8 สาเหตุสำคัญเป็นการเบิกงบรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้น 9,425 ล้านบาท โดยเฉพาะค่าใช้สอยและค่าวัสดุ จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลังของ อปท. เกินดุล 35,354 ล้านบาท
2.3 ฐานะการคลังของรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีรายได้จำนวน 4,656,686 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 209,417 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.7 และมีรายจ่ายจำนวน 4,480,585 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 25,209 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.6 โดยในส่วนงบลงทุนมีรายจ่ายที่สำคัญ คือ รายจ่ายลงทุนเพื่อการดำเนินงานปกติรายปีของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 62,726 ล้านบาท และโครงการจัดหาเครื่องบิน 14 ลำตามแผนวิสาหกิจปี 2547/48-2552/53 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 18,964 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจตามระบบ สศค. หรือ GFS เกินดุลทั้งสิ้น 176,101 ล้านบาท
3. สรุป
“แม้ว่ารัฐบาลจะจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลในปีงบประมาณ 2556 แต่จากการที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้เกินเป้าหมายและกองทุนนอกงบประมาณมีรายได้เพิ่มขึ้นมาก จึงส่งผลให้ฐานะการคลังภาคสาธารณะตามระบบ สศค. หรือ GFS เกินดุล 1.17 แสนล้านบาท”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit