สช. เปิดแนวรุกประเมินผลกระทบสุขภาพ สานพลังจุฬาฯ เสริมทีมวิชาการช่วยท้องถิ่น

24 Mar 2014
เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๗ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ทางวิชาการ เพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ณ อาคารจามจุรี ๔ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่าง นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสช. ศาสตราจารย์ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ นพ.โศภณ นภาธร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

ทั้งนี้ตามความร่วมมือ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันใน ๓ เรื่อง คือ 1.พัฒนาบุคลากรด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ๒. สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้ด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ๓. สนับสนุนและส่งเสริมการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในภาคส่วนต่างๆในสังคม โดยเบื้องต้นกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ ๒ ปี

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสช. กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนับเป็นสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ในเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ ในการลงพื้นที่สัมผัสกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะในชุมชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังสามารถผลักดันประเด็นทางวิชาการต่างๆให้นำไปสู่กระแสและทิศทางหลักของสังคมได้อีกด้วย จึงเชื่อมั่นว่าการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้งานขับเคลื่อนและประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประเทศไทย ก้าวไปข้างหน้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยทางสช.พร้อมจะสนับสนุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ อาทิ การประสานงานเพื่อจัดหาแหล่งทุน เพื่อสนับสนุนการวิจัยหรือการฝึกอบรม เป็นต้น

ปัจจุบัน สช.ได้สนับสนุนเครือข่ายด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในพื้นที่ต่างๆ และมีบันทึกความร่วมมือ เป็นส่วนหนึ่งในการสานพลังของกลุ่มเครือข่ายต่างๆให้เข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันอุดมศึกษา ชุมชน หรือแม้แต่ภาคประชาสังคม ดังนั้น สช.และจุฬาลงกรณ์ฯ จึงสามารถบูรณาการทำงานเพื่อเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆได้ดียิ่งขึ้น

“แนวทางที่สช.ขับเคลื่อนอยู่ขณะนี้ คือการสานพลังกับสถาบันการศึกษา ตามความสนใจและเชี่ยวชาญของแต่ละสถาบัน รวมถึงความต้องการพัฒนา ในด้านหนึ่งด้านใดเป็นพิเศษ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาในชุมชน หรือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความถนัดด้านการพัฒนาศักยภาพบุคคล และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดดเด่นเรื่องการจัดทำนโยบายสาธารณะ สช.จะเข้าไปสานพลัง ซึ่งการลงนามในบันทึกความตกลงร่วมกัน จะทำให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆมีความชัดเจนยิ่งขึ้น”

นพ.อำพล กล่าวว่า ทิศทางการขับเคลื่อนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะของคนไทยในอนาคต จะต้องทำให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งไปด้วยกัน มีศักยภาพในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งวิธีการสำคัญคือยกระดับให้ชาวบ้านในพื้นที่และผู้นำชุมชน มีองค์ความรู้และดำเนินการได้ด้วยตัวเอง โดยบทบาทของสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานภาควิชาการจะเป็นเพียงพี่เลี้ยงให้เท่านั้น

ด้าน ศาสตราจารย์ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถือเป็นความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์การพัฒนางานวิชาการของหน่วยงานทั้งสองแห่ง โดยในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ได้มีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัย ประกอบจากผู้แทนด้านวิชาการ ๗ คณะ ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัย ๔ แห่ง และในอนาคตอันใกล้นี้ จะมอบให้คณะกรรมการชุดดังกล่าว ขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งให้ความรู้และสติปัญญาแก่สังคมต่อไป

รัฐธรรมนูญ-พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ

เพิ่มอำนาจ-คุ้มครองประชาชนด้านสุขภาวะ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนด การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ไว้ในหมวดสิทธิชุมชน มาตรา ๖๗ วรรค ๒ ว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”

ขณะที่พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กำหนดสาระสำคัญเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ตามมาตรา ๕ ว่า “บุคคลมีสิทธิในการดํารงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ รวมทั้งมีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการดําเนินการให้เกิดสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อม” และมาตรา ๑๑ ว่า “บุคคลหรือคณะบุคคล มีสิทธิร้องขอให้มีการประเมิน และมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ รวมทั้งมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูลคําชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือการดําเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือของชุมชนและแสดงความเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว”

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)จึงแต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จากนโยบายสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยได้จำแนกกระบวนการและขั้นตอนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพตามกรอบการบังคับใช้ในกฎหมาย และอำนาจพันธกรณีที่หน่วยงานรับผิดชอบเกี่ยวข้องการดำเนินงานประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่ผ่านมา พบว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญคือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ ศักยภาพของบุคลากรระดับต่างๆ การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ