“บริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่ได้รับอนุญาตกำลังเสี่ยงกับความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและชื่อเสียงของตัวเองในฐานะผู้จัดหา ผู้ผลิต และส่งออกสินค้า” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษกของบก.ปอศ. กล่าว “นอกจากนี้ พวกเขากำลังละเมิดสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ เรามีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องดำเนินการเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับองค์กรธุรกิจที่ถูกกล่าวหา และเข้าตรวจค้นองค์กรธรุกิจเหล่านั้นเมื่อมีหลักฐานว่ากระทำผิดจริง”
โรงงานผลิตสินค้ายังคงถูกร้องเรียนอย่างต่อเนื่องว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มากที่สุด มีการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่ได้รับอนุญาต เช่น ซอฟต์แวร์ในสำนักงานและโรงงานผลิต เซิร์ฟเวอร์ ซอฟต์แวร์ออกแบบ และซอฟต์แวร์แปลภาษา บก.ปอศ. มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริงหลังจากได้รับคำร้องเรียนและหลักฐานจากเจ้าของลิขสิทธิ์
หนึ่งในองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์รายใหญ่สำหรับปีพ.ศ. 2557 ในเวลานี้ คือโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรีที่ใช้งานซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่ได้รับอนุญาตบนคอมพิวเตอร์จำนวนทั้งสิ้น 49 เครื่อง ตำรวจแทบไม่พบซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายและที่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานในโรงงานแห่งนี้เลย โดยโรงงานแห่งนี้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของออโตเดสก์ (Autodesk) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ซีเมนส์ พีแอลเอ็ม (Siemens PLM) และ ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ (Thai Software Enterprise)“การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในหลายองค์กรธุรกิจมักมีสาเหตุมาจากการที่ผู้บริหารละเลยและไม่ใส่ใจในเรื่องนี้” พ.ต.อ. ชัยณรงค์กล่าว “เจ้าหน้าที่ด้านไอทีและผู้มีอำนาจบริหารของบริษัทต้องรู้ว่าการใช้ซอฟต์แวร์ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ มิเช่นนั้นจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และทำผิดกฎหมาย เรื่องนี้มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่มีความต้องการจากประเทศผู้นำเข้าสินค้าให้องค์กรธุรกิจที่จัดหา ผลิตและส่งออกสินค้า แสดงความโปร่งใสในการทำธุรกิจโดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานที่โปร่งใส เราสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจไทยเตรียมตัวเพื่อรับมือกับความต้องการดังกล่าว โดยมีวิธีปฏิบัติที่ดีสำหรับจัดการสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ หรือไลเซ้นต์ เพื่อสร้างความแน่ใจว่าองค์กรธุรกิจของตนไม่ได้ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือใช้ผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ หรือไลเซ้นต์”
องค์กรธุรกิจอื่นๆ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในช่วงสองเดือนแรกของปีพ.ศ. 2557 ประกอบด้วย โรงงานผลิตชิ้นส่วนโลหะในจังหวัดชลบุรี ผู้จัดจำหน่ายเครื่องจักรในจังหวัดปทุมธานี บริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ในจังหวัดนครปฐม บริษัทรับเหมาก่อสร้างในจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพฯ โดยแต่ละรายมีรายได้ต่อปีเฉลี่ยในปีพ.ศ. 2557 สูงถึง 230.4 ล้านบาท นอกจากความเสี่ยงด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์แล้ว องค์กรธุรกิจเหล่านี้ยังต้องเผชิญความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ข้อมูลทางธุรกิจที่สำคัญมีความเสี่ยงตามไปด้วย หน่วยงานระหว่างประเทศผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงเอฟบีไอ (FBI) ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับอาชญากรรมหลายประเภทที่เกิดขึ้นโดยอาศัยช่องโหว่จากการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่ได้รับอนุญาต
เนื่องจากประเทศไทยยังคงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา บก.ปอศ. จึงเร่งเพิ่มการตรวจค้น โดยในปีพ.ศ. 2556 บก.ปอศ. เข้าตรวจค้นบริษัทที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 179 ครั้งทในปีพ.ศ. 2555 เป็นเกือบ 300 ครั้งในปีพ.ศ. 2556 บก.ปอศ. ยังระบุว่าในปีพ.ศ. 2557 นี้จะเพิ่มการตรวจค้นขึ้นอีกร้อยละ 30 จากจำนวนที่ประกาศไว้ในปีพ.ศ. 2556
ภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ผู้ที่กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์จะได้รับโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำ ทั้งปรับผู้ที่แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านทางสายด่วนที่ 02-714-1010 หรือรายงานทางออนไลน์ จะได้รับเงินรางวัลสูงสุด 250,000 บาท โดยข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกปิดไว้เป็นความลับ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าชมได้ที่ www.stop.in.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit