พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กล่าวว่า “ในงานวัชรยานบูชา ในครั้งนี้ทางสถานทูตอินเดียได้มีการเชิญพระลามะจาก Arunachal Pradesh มาเพื่อการบำเพ็ญกุศลพระศพทางพระพุทธศาสนานิกายวัชรยาน น้อมถวายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และนับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดพิธีอย่างเต็มรูปแบบในประเทศไทย
ภายในงานมีพิธีการสร้าง “พุทธมณฑลทราย” (Sand Mandala) การปั้น “เครื่องบูชาสักการะเนย” (Butter Sculpture) มีพิธีอัญเชิญ “เครื่องบูชาสักการะเนย” (Butter Sculpture) มาบูชาหน้าพระโกศ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พิธีสวดมนต์โดยพระลามะ ๑๐ รูป และการรำบูชาวัชรยานถวายพระศพ ๓ ชุด ตามโบราณประเพณีทางวัชรยาน
สำหรับ การสร้างมันดาล่า ในงานบำเพ็ญกุศลพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกในครั้งนี้ เป็นการสร้างมัลดาล่าเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นปางหนึ่งของเจ้าแม่กวนอิม โดยใช้หินอ่อนตกผลึกสีขาวนำมาบดเป็นทรายหลายขนาด นำไปย้อมสี ซึ่งมีทั้งสีน้ำเงิน ขาว เหลือง แดง เขียว ดำ น้ำตาล ส้ม ฟ้า เหลืองอ่อน แดง และเขียวอ่อน สะท้อนให้เห็นถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สรรพสิ่งไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ทุกขั้นตอนในการทำมัลดาล่าต้องผ่านการปฏิบัติอย่างตั้งใจและต้องใช้สมาธิขั้นสูง การ สร้างพุทธมณฑลทราย หรือมันดาล่าทราย จะถูกสร้างบนแท่นพื้นเรียบ ด้วยอุปกรณ์ซึ่งเป็นกรวยโลหะที่เรียกว่า chak-pu และเครื่องขูดที่ทำจากไม้เรียกว่า shing-ga โดยการสร้างมัลดาล่าโดยทั่วไปนั้นอาจสร้างขึ้นจากดอกไม้ เมล็ดข้าวแห้ง หรือการแกะสลัก ก็ได้เช่นเดียวกันปริศนาธรรมที่แฝงอยู่ในมันดาล่าทราย คือ “ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรยั้งยืน สังขารไม่เที่ยง" ซึ่งถือเป็นการเผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องอนิจธรรม ตามธรรมเนียมของการสร้างมันดาล่าทรายของพุทธศาสนามหายาน คือ เมื่อสร้างแล้วก็จะต้องทำการทำลายทิ้ง ซึ่งเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความไร้แก่นสาร และความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิต ทรายมันดาล่าทั้งหมดที่สร้างในงานครั้งนี้จะถูกรวบรวม และแจกจ่ายให้แก่ผู้ร่วมงานในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๗
เพียงแค่ได้เห็นมันดาล่าก็จะก่อให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่ และทำให้จิตใจของเราสงบสุข การทำความเข้าใจมันดาล่าก็หมายถึงการทำความเข้าใจหนทางทั้งหมดในการไปสู่ความรู้แจ้ง แต่ละส่วนของมันดาล่าเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ และย้ำเตือนผู้ปฏิบัติสมาธิถึงความเข้าใจอันถ่องแท้ มันดาล่าทราย คือวัตถุศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างสมคุณความดีและความบริสุทธิ์ขึ้นจากพลังในตัวมันดาล่าเอง ทั้งยังสร้างสมบุญให้แก่ผู้ทำมันดาล่าทราย ผู้สนับสนุนการสร้างมันดาล่า และผู้ที่ได้เห็นมันดาล่า ชาวธิเบตมีความเชื่อว่า มันดาลาสร้างโดยพระผู้มีปัญญาอันบริสุทธิ์ ในขณะที่สร้างพระสงฆ์ได้อัญเชิญพลังศักดิ์สิทธิ์มาสถิตในมันดาลา ซึ่งจะเป็นสิริมงคลให้กับผู้ที่ได้มาเยี่ยมชม และยังช่วยคุ้มครองปกป้องสถานที่ซึ่งมันดาลานั้นตั้งอยู่อีกด้วย
การปั้นเครื่องบูชาสักการะเนย (Butter Sculpture) นับเป็นพุทธศิลปะโบราณทางทิเบตและหิมาลัย ที่มีมาตั้งแต่ราวศตวรรษที่ ๑๕ ซึ่งการปั้นเครื่องบูชาเหล่านี้ เป็นการปั้นตามประเพณี โดยปั้นจากเนยสีต่างๆ เป็นรูปทรงสวยงาม ซึ่งในงานครั้งนี้ ได้ปั้นเป็นรูปพระพุทธเจ้า และรูปดอกไม้ โดยจะมีพิธีอัญเชิญ “เครื่องบูชาสักการะเนย” (Butter Sculpture) มาบูชาหน้าพระโกศ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๗.๐๐ น.
เครื่องบูชาสักการะเนยมีขึ้นพื่อให้สิ่งมีชีวิตเกิดการรู้แจ้งด้วยสิ่งที่สามารถรับประทานได้ ในรูปแบบการตกแต่งที่สวยงามเพื่อการสะสมบุญในรูปแบบมวลที่จะนำความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรืองและความโชคดีมาสู่บุคคลและสังคม ประเพณีนี้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีพระสงฆ์จำนวนมากที่ปฏิบัติกิจเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อการปั้นเครื่องบูชาสักการะเนยในงานที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ ๑๕หรือวันพระจันทร์เต็มดวงของเดือนจันทรคตที่ ๑ ซึ่งเป็น Losar (ปีใหม่) หรือการเฉลิมฉลองปีใหม่ และเป็นการถวายสักการะแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยในงานเฉลิมฉลองนี้จะมีการสาธิตการปั้นเครื่องบูชาสักการะเนยให้ชม และปิดท้ายด้วยพิธีแบบดังเดิมในการถวายเครื่องบูชาสักการะเนยที่ได้ปันเสร็จแล้ว
การสวดมนต์แบบลามะ เป็นการสวดมนต์ในรูปแบบการสวดตามทำนองดนตรี หรือคาถา ซึ่งบทสวดเหล่านี้มีอยู่ในทุกหนแห่งของโลกที่มีผู้นับถือศาสนาพุทธ นับตั้งแต่วัดในประเทศไทยไปจนถึงวัดพุทธในทิเบตและในอินเดีย เกือบทุกโรงเรียนของชาวพุทธจะมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการสวดมนต์นี้ ไม่ว่าจะเป็นเถรวาทหรือมหายานก็ตาม
ตามประเพณีทางวัชรญาณ การสวดมนต์จะใช้ในพิธีกรรมเพื่อการอ้อนวอน การกำหนดจิตในพิธีบูชาเทพ ตันตระ การบูชาผ้ายันต์ หรืออื่นๆ ซึ่งพระสงฆ์ในแถบหิมาลัยจะมีความสามารถในการใช้เสียงเวลาสวดมนต์ที่มีรูปแบบเฉพาะ โดยสามารถสวดมนต์ในระดับเสียงสูงและระดับเสียงต่ำที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนได้ในเวลาเดียวกัน
การเต้นรำบูชาเทพเจ้า ถือเป็นการเต้นรำศักดิ์สิทธิ์ โดยผู้เต้นรำจะสวมหน้ากากและเครื่องแต่งกายที่สดใสมีชีวิตชีวา มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานิกายมหายานและเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลของชาวพุทธ ในขณะเต้นรำจะมีเพลงที่บรรเลงโดยพระสงฆ์ซึ่งใช้เครื่องดนตรีแบบดังเดิม มักจะมีนำเสนอการสั่งสอนทางศีลธรรมในการแสดงความเมตตาปราณีต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และเพื่อเป็นการสร้างบุญกุศลให้แก่กับทุกคนที่รับรู้ในสิ่งเหล่านั้น
การเต้นรำศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นรูปแบบของการทำสมาธิและบูชาเทพเจ้า ตามปกติผู้นำการเต้นรำจะเป็นนักดนตรี ใช้เครื่องดนตรีประเภทเคาะหรือตีเพื่อกำหนดจังหวะในการเต้น เช่น ฉิ่ง ฉาบ และมักจะเป็นการพรรณนาเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ปัทมสัมภวะ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ในศตวรรษที่ ๙ และนักบุญรูปอื่นๆ ในอินเดีย และการเต้นรำนี้จะมีในภูมิภาคเทือกเขาหิมาลัย เช่น ลาดัคห์, รัฐอุตตราขัณฑ์, หิมาจัลประเทศ, สิกขิม และอรุณาจัลประเทศ ในระหว่างเทศกาลทางวัฒนธรรมและศาสนา
สำหรับในงาน วัชรยานบูชา การบำเพ็ญกุศลพระศพทางพระพุทธศาสนานิกายวัชรยาน น้อมถวายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จัดถวายโดยรัฐบาลอินเดีย ในครั้งนี้ ได้จัดให้มีการเต้นรำบูชา ๓ ชุด คือ ชุดที่ ๑ การรำบูชาเพื่อเปิดมณฑลพิธีบวงสรวงตามแนวพิธีวัชรยาน Khadro Garcham หรือ รำบูชาของเทวฑูตจากสรวงสวรรค์ ชุดที่ ๒ ระบำบูชาขจัดความหลง และก่อให้เกิดปัญญาในอนิจธรรม Lang Dang Phag-cham หรือรำบูชาของเทพดาวัวและหมู และชุดที่ ๓ การรำเพื่อบูชาแจ้งอนิจจธรรม Durdak Garcham หรือรำบูชาธรรมบาลแห่งยมโลก โดยจะมีขึ้นในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๗.๐๐ น. โดยมี ฯพณฯ มร.ฮัช วาร์ดัน ชริงลา เอกอัครราชฑูตอินเดียประจำประเทศไทย (H.E. Mr. Harsh Vardhan Shringla, Ambassador of India) พร้อมคณะ และตระกูลเตชะไพบูลย์ เจ้าภาพในพิธีบำเพ็ญกุศลพระศพฯ จะร่วมในงานดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ ประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมชมงานและพิธีการต่างๆ ได้ตลอดระยะเวลาการ จัดงาน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit