เกษตรฯ ห่วงสถานการณ์ภัยแล้ง หมอกควันและไฟป่า เหตุแล้งเร็วและนาน มอบกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดินย้ำเกษตรกรงดเผาตอซังลดอัตราการเกิดหมอกควันและงดทำนาปรังรอบสอง

19 Mar 2014
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงมาตรการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งภาคการเกษตรและสถานการณ์หมอกควันว่า สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ค่อนข้างจะน่าเป็นห่วงเพราะมาเร็วและค่อนข้างจะนาน และเมื่อความชื้นที่น้อยสิ่งที่เกิดขึ้นคือความแห้งแล้งที่สะสมมานานใบไม้ใบหญ้า หรือวัชพืชต่างๆที่ปกคลุมอยู่โอกาสที่จะเกิดฟืนไฟง่าย ขณะเดียวกัน พี่น้องที่ทำการเกษตรแบบเดิมๆของพี่น้องเกษตรกรทางภาคเหนือใช้วิธีการเผาตรงนี้ต้องใช้วิธีรณรงค์ โดยเน้นย้ำกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดินจะต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรขอความร่วมมือว่าออย่าใช้วิธีเผา แต่ให้ใช้เศษใบไม้ใบหญ้าหรือวัชพืชต่างๆสามารถที่จะเอามาทำเป็นปุ๋ยหมักได้ ตรงนี้มีการประสานงานและทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรอยู่ตลอดเวลาเรื่องของการรณรงค์ไม่ให้มีการเผาหลังการปลูกพืชผลทางการเกษตร อันนี้เป็นนโยบายและเป็นเรื่องที่สำคัญ

“ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ ได้ เร่งรัดในส่วนของมาตรการเชิงป้องกันปัญหาหมอกควันและลดปัญหาความแห้งแล้งมาโดยตลอด โดยในเรื่องการทำฝนหลวง หากสภาวะอากาศมีความชื้นสัมพัทธ์เพียงพอ ขณะนี้ได้ตั้งกลุ่มปฏิบัติการฝนหลวงไปปฏิบัติการอยู่ใน 5 ภูมิภาค หากมีการวัดระดับของความชื้นในอากาศว่าเพียงพอเครื่องบินสามารถขึ้นพร้อมบินปฏิบัติการได้ในทันที ในขณะนี้หน่วยปฏิบัติฝนหลวงที่อยู่ในพื้นที่ก็มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดหากมีความเคลื่อนไหวสามารถพร้อมที่จะปฏิบัติการได้ทันที อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปฏิบัติการทำฝนหลวงอาจจะทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลก็ตาม แต่การขึ้นปฏิบัติการสามารถลดความเข้มข้นของปัญหาหมอกควันลงได้ เพราะเป็นทำลายชั้นฟิล์มอยู่ในบริเวณที่มีปัญหาหมอกควันปกคลุม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญซึ่งมาตรการการปฏิบัติการทำฝนหลวงจะสามารถช่วยเหลือปัญหาตรงนี้ได้ ” นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการในการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดในขณะนี้ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้เน้นย้ำมาโดยตลอด คือ ต้องระมัดระวังในการใช้น้ำโดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งน้ำในเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพลมีน้ำน้อยกกว่าปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ30 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการวางแผนการใช้น้ำอย่างจำกัดทั้งการปลูกข้าวนาปี และการทำนาปรังที่วางแผนไว้ไม่เกิน 5 ล้านไร่ต่อปี เพื่อให้เมาะสมกับน้ำที่มีอยู่ แต่ข้อมูลการปลูกจริงพบว่า เกษตรกรมีการปลูกข้าวไปแล้วกว่า 8 ล้านไร่ต่อปี แต่ทางกรมชลประทานก็แก้ไขปัญหาปลูกข้าวไปแล้วกว่า 8 ล้านไร่พยายามให้น้ำอย่างเต็มที่

ดังนั้น จึงต้องขอความร่วมมือกับพี่น้องเกษตรกรก็คือ งดทำนาปรังรอบสองที่ต้องใช้น้ำมากไม่สามารถทำได้ แต่ควรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทน เพราะน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดพอคำนวณแล้วน้ำที่เหลือยู่ต้องใช้ในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อมาไล่น้ำเค็ม ใช้สำหรับอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมและต้องมาทำน้ำประปา

ขณะเดียวกัน ทางกรมชลประทานต้องสำรองน้ำต้นทุนเพื่อให้น้ำที่มีอยู่สามารถใช้ได้ถึงเดือนพฤษภาคมนี้ หากฝนมาช้ากว่าปกติ เพราะฉะนั้น ในช่วงที่เหลือมีนาคม เมษายน พฤษภาคมน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด ปริมาณน้ำที่เหลือไว้อุปโภคและบริโภค ใช้ไว้ไล่น้ำเค็ม หากเกษตรกรเห็นน้ำผ่านหน้านาก็จะสูบน้ำไว้ ตรงนี้รับรองว่าจะทำให้เกิดความเดือดร้อนอย่างแน่นอน