นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) เปิดเผยว่า สช.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต ๘ อุดรธานี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน ๑๐๙ แห่ง ในการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพเฉพาะพื้นที่ ไปสู่ การจัดการระบบสุขภาพได้ด้วยชุมชนเอง โดยมีงบประมาณจาก “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” หรือที่เรียกว่า “กองทุนสุขภาพตำบล” ซึ่ง สปสช. จัดสรรให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล ในการดูแลสุขภาพ เป็นกลไกร่วมผลักดันธรรมนูญ ไปสู่การปฏิบัติในระดับครัวเรือนและชุมชนต่อไป
นพ.อำพล กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพ จะเป็นกติกาหรือแนวทางสร้างสุขภาวะ ที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วม และสะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้นอย่างแท้จริง ปัจจุบันหลายชุมชนได้นำกลไกธรรมนูญสุขภาพไปใช้ จนประสบความสำเร็จ ช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพทั้งกายและใจที่ดีขึ้น เช่น ชุมชนตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ถือเป็นชุมชนแห่งแรกที่ยกร่างธรรมนูญสุขภาพ ในการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกัน การควบคุมโรค เป็นต้น พร้อมทั้งประสานการทำงานผ่านภาคีเครือข่าย ปัจจุบันตำบลชะแล้ ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบของธรรมนูญสุขภาพที่ดีแก่ท้องถิ่นอื่นๆ นำไปปฏิบัติต่อไป
"ธรรมนูญสุขภาพ จะเป็นแบบฝึกหัดประชาธิปไตยที่ดี เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมให้ประชาชนสามารถทำงานร่วมกับนโยบายการกระจายอำนาจอื่นๆได้ง่ายขึ้น และยังเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย ที่ยึดการบริการจัดการตนเอง ขณะที่หน่วยงานของการรัฐเป็นเพียงหน่วยงานเชื่อมประสาน อำนวยความสะดวกให้การปฏิบัติประสบความสำเร็จเท่านั้น"
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 8 อุดรธานี กล่าวว่า สปสช.พร้อมที่จะสนับสนุนการสร้าง ธรรมนูญสุขภาพระดับท้องถิ่น โดยสมทบเงินกองทุนตำบล เพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะให้แบบรายหัว อัตรารายละ ๔๕ บาท เช่นถ้าชุมชนนั้นมีประชากร ๑๐,๐๐๐ คน สปสช.ก็จะสบทบเงิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท เป็นต้น
สำหรับใน ปี ๒๕๕๗ นี้ สปสช. เขต ๘ อุดรธานี ได้ร่วมกับ สช. สนับสนุนการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพตำบลและพัฒนาตำบลจัดการสุขภาพต้นแบบใน ๗ จังหวัดอีสานตอนบน ครอบคลุม ๑๐๙ ตำบล ได้แก่ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย สกลนคร นครพนม และบึงกาฬ
“กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น จะเป็นแกนหลักร่วมกับคนในชุมชน ขับเคลื่อนธรรมนูญตำบลให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ถือเป็นแนวทางที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งสปสช. เข้าไปจัดการเอง แต่อาจจะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ดังนั้นการมีธรรมนูญสุขภาพ จึงเปิดโอกาสประชาชนได้มีส่วนร่วมการขับเคลื่อนสุขภาวะ เป็นผู้กำหนดทิศทาง กลไก มาตรการด้านสุขภาพของตนเอง และจะได้รับประโยชน์โดยตรง”
ด้าน นายอำนวย อินทรธิราช นายกอบต. นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ สช.และกองทุนหลักประกันสุขภาพ ที่ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพของท้องถิ่น ทำให้ประชาชนมีสุขภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รู้จักป้องกันตัวเอง มีกิจกรรมต่างๆ ช่วยสร้างเสริมให้สุขภาวะชุมชนดีขึ้น โดยทาง ต.นาพู่ ถือเป็นชุมชนแรกในประเทศไทย ที่เลี้ยงไก่ไข่ไอโอดีน และถือเป็นชุมชนแรกที่กล้าประกาศว่าประชาชนปลอดโรคขาดไอโอดีน
“อปท.จะมีบทบาทหลักในการสร้างสุขภาพ ขณะที่สช.มีเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะ ซึ่ง ธรรมนูญสุขภาพ จะช่วยให้เกิดผลลัพท์ที่ทุกคนต้องการ นั่นคือ ตำบลจัดการสุขภาพต้นแบบ เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit