เกาะสุกรอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ตั้งอยู่ห่างชายฝั่งประมาณ 3 กิโลเมตร บนเนื้อที่ประมาณ 8,750 ไร่ ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน มีประชากรจำนวนทั้งสิ้น2,556คน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่นับถือศาสนาพุทธ สภาพเกาะโดยทั่วไปยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก บนพื้นดินมีผืนนากว้างใหญ่กว่า 800 ไร่ ในอดีตคนในชุมชนเกาะสุกรนิยมทำนาปลอดสาร แต่ระยะหลังการทำนาเริ่มลดน้อยลง เพราะถูกกว้านซื้อที่ดินจากคนภายนอก ส่งผลให้บรรยากาศการ “ลงแขก”เกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงความมีน้ำใจ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตลอดจนการสะท้อนความสามัคคีของคนในชุมชนนั้น ๆ เลือนหายไป
นางรัตนา ไชยมน หรือ “จ๊ะหนา”ชาวบ้านเกาะสุกรหัวหน้าโครงการชุมชนจัดการตัวเองเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร กล่าวว่า ระยะ 10 ปี ที่ผ่านมาการทำนาบนเกาะสุกรเริ่มลดน้อยลง จาก 4 หมู่บ้าน ลดลงเหลือเพียง 2 หมู่บ้านเท่านั้น ส่วนคนที่เลิกทำนาก็จะหันไปทำประมงแทน ใครมีที่ดินบนเนินเขาก็ปลูกยางพารา ส่วนที่นาบนพื้นราบมักถูกปล่อยทิ้งไว้ หรือไม่ก็ขายให้ต่างชาติแม้ชาวบ้านจะลดจำนวนการทำนาลงเรื่อยๆ แต่ยังชาวบ้านมีบางส่วนเชื่อว่า “ข้าว”และ“วิถีการเกษตร” คือความมั่นคงในชีวิตและครอบครัว จึงลุกขึ้นมาฟื้นอาชีพการทำนาขึ้นอีกครั้ง ภายใต้โครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบพิบัติภัยสึนามิที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)นำความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์มาใช้พัฒนารูปแบบการทำนาให้ได้ผลผลิตดียิ่งขึ้น และเพื่อให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้และบริหารจัดการตัวเองได้ นางขนิษฐา จุลบลพี่เลี้ยงโครงการชุมชนจัดการตนเองเพื่อความมั่นคงด้านอาหารกล่าวว่า จุดเด่นของเกาะสุกรคือ ชาวบ้านเคยผ่านการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)มาก่อนจึงมีต้นทุนข้อมูลพื้นที่ระดับหนึ่ง แต่สิ่งชาวบ้านยังขาดคือการมีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การสร้างความรู้และกลไกในการทำงานร่วมกัน
เมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้น ตนในฐานะพี่เลี้ยงจึงจัดให้มีเวทีให้ชาวบ้านมาพูดคุยร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง รวมทั้งมองหาจุดเด่นทั้งในเชิงพื้นที่และคน จนออกมาเป็น โครงการชุมชนจัดการตนเองเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารขึ้นมา โดยมีเป้าหมายคือการปกป้องพื้นที่ทำกินซึ่งก็คือ “ที่นา”นั่นเอง
จ๊ะหนากล่าวต่อว่า แต่ก่อนการรวมกลุ่มคนในชุมชนยังขาดความร่วมมือ เพราะไม่มีการพูดคุยกัน ต่างคนต่างทำนาของตัวเอง แต่หลังจากโครงการเสริมสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิเข้ามาหนุนเสริมจึงเกิดวงพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และนำความคิดเห็นที่ดีๆ มาพัฒนาการทำงาน ส่งผลให้ขณะนี้ชาวบ้านมองปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้นและร่วมกันแก้ไขในชุมชนของตน
“เมื่อชุมชนสามารถบริหารจัดการตนเองได้ และมีความเข้มแข็งชาวบ้านจึงรวมตัวกันจัดตั้ง“กองทุนชาวนา”ขึ้นมาเพื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน แต่การกู้ยืมเงินกองทุนนี้จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของกองทุน”
จ๊ะหนากล่าวอีกว่า กองทุนชาวนานอกจากจะเป็นการออมเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินแล้ว ยังเป็นการฝึกบริหารจัดการงบประมาณให้เกษตรกรมีวินัยในการใช้เงินอีกด้วย ทั้งนี้กองทุนชาวนาจะมีรูปแบบการออม 2 รูปแบบคือแบบฝากรายเดือนซึ่งขณะนี้มีสมาชิกอยู่ประมาณ 60 คน และแบบรายปีจำนวน 10 คน ปัจจุบันกองทุนชาวนาเปิดดำเนินการมาได้ 10 เดือน พบว่ามีเงินทุนหมุนเวียนจากสมาชิกกว่า 110,000 บาท ซึ่งคาดว่าอนาคตอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนเงินและสมาชิกน่าจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ นอกจากความสำเร็จในการบริหารจัดการกองทุนชาวนาแล้ว ขณะนี้ชาวบ้านในเกาะสุกรกำลังคิด “ต่อยอด” ให้เกาะสุกรแห่งนี้เป็น“แหล่งเรียนรู้” เรื่อง “การท่องเที่ยวเชิงเกษตร” ซึ่งเป็นการผสมผสานความรู้ระหว่างชุมชนเกษตรกับชุมชนท่องเที่ยวซึ่งพบว่าขณะนี้แหล่งเรียนรู้แห่งนี้เริ่มเป็นที่รู้จัก ผ่านการบอกเล่าปากต่อปาก และเริ่มมีนักท่องเที่ยวทยอยเข้ามามากขึ้น และในอนาคตอันใกล้นี้คาดว่าชุมชนเกาะสุกรจะยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้อย่างเต็มตัว
“เราพบว่าสิ่งที่นักท่องเที่ยวเห็นและประทับใจเมื่อมาเยือนเกาะสุกรคือ วิถีชีวิตการทำนา เราเห็นสายตาที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาเรียนรู้อย่างตั้งใจ ทำให้เราซึมซับความรู้สึกเหล่านั้นว่าสิ่งที่เรามีเป็น วิถีชีวิตที่มีคุณค่าต่อชุมชน”
นางขนิษฐากล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่า “กระบวนการ” ที่ทีมพี่เลี้ยงไปชวนคิดชวนคุยนั้นทำให้ชาวบ้านทำงานเป็นระบบมากขึ้นเริ่มตั้งแต่การสืบค้นข้อมูล จัดประชุมร่วมคิดร่วมวางแผน รวมถึงการวางแผนออกไปศึกษาดูงานนอกพื้นที่ด้วย และเมื่อกลับมาจากการศึกษาดูงานก็มีการตั้งวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้รับทราบข้อมูลไปพร้อมกัน แต่ที่สำคัญคือชาวบ้านสามารถดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามาสนับสนุนการทำงานของชุมชนได้ และรู้ว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นพวกเขาสามารถประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานนั้นๆ ได้ด้วยตนเอง
“เห็นได้ว่าการสร้างความรู้และกลไกในการทำงานที่มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่นและมูลนิธิสยามกัมมาจลนำมาใช้กับโครงการนี้ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนเกาะสุกรสามารถแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมชัดเจน”
HTML::image( HTML::image( HTML::image( HTML::image( HTML::image(