ไขกลยุทธ์สร้างความยั่งยืน “ธุรกิจครอบครัว”

28 Mar 2014
ปัจจุบันมีธุรกิจครอบครัวเป็นจำนวนมากเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งธุรกิจครอบครัวนี้ มีสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้สร้างและบริหารธุรกิจด้วยตนเอง บริษัท เฮย์กรุ๊ป ได้ศึกษาข้อมูลหลากหลายแห่งซึ่งทำให้เห็นว่า องค์กรที่เป็นธุรกิจครอบครัวมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าองค์กรที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว ทั้งในด้านของมูลค่าองค์กร ผลตอบแทนของการลงทุน และการเติบโตของรายได้ต่อปี แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจครอบครัวก็ยังคงมีปัญหาในด้านการสืบทอดธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น
ไขกลยุทธ์สร้างความยั่งยืน “ธุรกิจครอบครัว”

“เห็นได้ว่าธุรกิจครอบครัวทั้งในและต่างประเทศ ต่างก็เผชิญกับปัญหาด้านการสืบทอดธุรกิจ และข้อมูลจากผลการศึกษาหลายแหล่งก็แสดงให้เห็นแบบนี้เช่นเดียวกัน” คุณวันเฉลิม สิริพันธุ์ Managing Consultant และหัวหน้าหน่วย ‘Building Effective Organization’ ของบริษัท เฮย์กรุ๊ป กล่าว “เมื่อมีการสืบทอดธุรกิจครอบครัวจากรุ่นแรกไปสู่รุ่นที่สอง จะมีองค์กรเพียง 30 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่สามารถดำรงธุรกิจให้อยู่รอดได้” ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า มีธุรกิจครอบครัวเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ ที่สามารถสืบทอดไปสู่รุ่นที่สี่ได้ องค์กรจึงพยายามสร้างระบบและนำผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาช่วยดำเนินธุรกิจเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยืนยาวและประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาของบริษัท เฮย์กรุ๊ป นั้นพบว่าการสร้างระบบและนำผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาช่วยในการบริหารอาจไม่สามารถทำให้ธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จได้หากองค์กรไม่ให้ความสำคัญกับ “Family Capital” หรือต้นทุนของครอบครัวที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่ง Family Capital นี้ หมายถึง ความสัมพันธ์ ธรรมเนียม ค่านิยม สิทธิ์ และกฎเกณฑ์ของครอบครัว (Family relations, traditions, values, rights, and obligations)

ในธุรกิจครอบครัวรุ่นแรก Family Capital ยังคงถูกฝังติดอยู่กับธุรกิจ ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวยังคงมีความแน่นแฟ้น แต่การสร้างระบบที่ชัดเจนและนำผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาสู่องค์กรมักจะไม่ปรากฏเท่าไรนัก ในขณะที่ธุรกิจรุ่นที่สอง สมาชิกในครอบครัวมีจำนวนมากขึ้นและลักษณะความสัมพันธ์ก็ซับซ้อนมากขึ้นด้วย ทำให้ Family Capital เริ่มลดลง แต่การสร้างระบบและการนำผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาช่วยธุรกิจก็เริ่มปรากฏมากขึ้น ส่วนในธุรกิจรุ่นที่สามนั้น องค์กรสามารถสร้างระบบที่ชัดเจนและมีผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาช่วยดำเนินธุรกิจ แต่การสร้างระบบและการนำคนนอกมาบริหารก็อาจเป็นสิ่งที่ทำลาย Family Capital ได้ ดังนั้นองค์กรจึงต้องให้ความสำคัญในการบริหาร Family Capital นี้เพื่อให้ธุรกิจสามารถคงอยู่และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืน ซึ่งผลจากการศึกษานั้น เฮย์กรุ๊ปยังได้ค้นพบปัจจัยขับเคลื่นธุรกิจครอบครัว 3 ประการ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจครอบครัวสามารถดำเนินอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจัย 3 ประการนี้ ได้แก่ “Heritage Capital” หรือคุณค่าที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น “Kin Interaction Capital” หรือความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และ “Principled Capital” หรือหลักการ กฏเกณฑ์ และวิธีการดำเนินธุรกิจ

ธุรกิจครอบครัวรุ่นแรก ควรให้ความสำคัญใน “Heritage Capital” มากที่สุด เพราะทรัพยากรและข้อมูลที่มีความสำคัญต่างๆ ในรุ่นนี้จำเป็นต้องสืบต่อไปยังผู้สืบทอดรุ่นต่อไป ซึ่ง Heritage Capital นี้หมายถึง ความรู้ ความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก ชื่อเสียงครอบครัว และความเป็นเอกลักษณ์ของธุรกิจ ดังนั้น เพื่อบริหาร Heritage Capital เจ้าของธุรกิจรุ่นนี้ควรเก็บข้อมูลสำคัญต่างๆ ที่บางครั้งอาจมีความแตกต่างและไม่สามารถหาได้จากแหล่งข้อมูลทั่วไป รวมถึงสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ และเก็บข้อมูลประวัติขององค์กรเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของธุรกิจด้วย

“Heritage Capital” นี้ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นในธุรกิจครอบครัวรุ่นที่สองอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม “Kin Interaction Capital” หรือระดับความแน่นแฟ้นด้านความสัมพันธ์ของครอบครัวซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยให้องค์กรสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญด้วย สำหรับการบริหาร Heritage Capital นี้ เจ้าของธุรกิจรุ่นแรกต้องทำการถ่ายทอดให้กับผู้สืบทอดโดยใช้ความรู้เฉพาะซึ่งได้จากการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบในรุ่นแรก และควรแนะนำผู้สืบทอดให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของในเครือข่ายความสัมพันธ์ทางธุรกิจ อีกทั้งควรสร้างประวัติข้อมูลองค์กรขึ้นให้สามารถแบ่งปันกับลูกค้าได้เช่นกัน และเนื่องด้วยขนาดครอบครัวของธุรกิจรุ่นนี้ขยายขึ้น องค์กรจึงต้องสร้าง Kin Interaction Capital โดยกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน เช่น จัดการพบปะระหว่างสมาชิกในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอเพื่อพูดคุยถึงประเด็นต่างๆ ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัว และที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย นอกจากนั้น การทำให้สมาชิกในครอบครัวมีความคาดหวังเดียวกันและให้ทุกคนมีส่วนร่วมทางธุรกิจก็เป็นอีกทางที่จะสร้าง Kin Interaction Capital ให้เกิดขึ้นได้

เนื่องด้วยสมาชิกในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นและความสัมพันธ์ก็มีความซับซ้อนมากขึ้น ธุรกิจครอบครัวรุ่นที่สาม จำเป็นต้องให้ความสำคัญใน “Kin Interaction Capital” และ “Principled Capital” โดยในการบริหาร Kin Interaction Capital นักธุรกิจรุ่นนี้ควรจัดประชุมครอบครัวอย่างเป็นทางการสม่ำเสมอ โดยบังคับให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนเข้าประชุม นอกจากนั้นยังต้องกำหนดกฏเกณฑ์ที่มาจากความคาดหวังและความมีส่วนร่วมในธุรกิจของสมาชิกในครอบครัว และในส่วนของ Principled Capital หรือหลักการ กฏเกณฑ์ วิธีการที่ใช้ในการปกครองและดำเนินธุรกิจนั้น ธุรกิจครอบครัวสามารถสร้างทุนด้านนี้ให้เกิดขึ้นได้โดยกำหนดกฏระเบียบที่สนับสนุนความซื่อตรงและคุณธรรม รวมถึงสร้างหลักในการปกครองของครอบครัว เช่น บัญญัติวิธีการขจัดความขัดแย้ง หรือจัดตั้งสำนักงานของครอบครัว เป็นต้น

เพื่อสร้างความสำเร็จให้ธุรกิจครอบครัวสามารถสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้นั้น องค์กรควรปรับเปลี่ยนแนวคิดโดยจัดลำดับความสำคัญโดยคำนึงถึงผลในระยะยาว และหาวิธีสร้างความเป็นมืออาชีพโดยไม่สูญเสียจิตวิญญาณและคุณค่าของความเป็นธุรกิจครอบครัว “สำคัญมากที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวจะรู้จักใช้ปัจจัยขับเคลื่อนทางธุรกิจที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจในแต่ละรุ่น เพื่อให้องค์กรมีความเป็นทั้งมืออาชีพและมีความได้เปรียบทางธุรกิจ หากยังต้องการให้ธุรกิจดำรงอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันทางธุรกิจสูงเช่นทุกวันนี้” คุณวันเฉลิมกล่าวทิ้งทาย

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit