การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอนอกจากจะช่วยให้เกิดการบริโภคที่สมดุล คือพลังงานที่ได้รับจากการบริโภคอาหารสมดุลกับพลังงานที่ใช้ไปกับกิจกรรมทางกายในแต่ละวัน ยังสามารถป้องกันปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ ได้ ทั้งโรคอ้วน โรคหัวใจ ความดัน เป็นต้น ดังนั้นการออกกำลังกายจึงถือเป็นการสร้างเกราะป้องกันโรคร้ายต่างๆ อย่างได้ผล และในโอกาสที่วันที่ 6 และ 7 เมษายนนี้ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้เป็น“วันกิจกรรมทางกายโลก” (World Day of Physical Activity)และ "วันอนามัยโลก" (World Health Day)ทั่วโลกได้รณรงค์ให้มีการใช้ชีวิตอย่างแอ็คทีฟและส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี...โครงการ Exercise is Medicine in Thailandโดยวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย สมาคมวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกมหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย มีคำแนะนำง่ายๆ เกี่ยวกับการออกกำลังกายมาเป็นทางเลือกให้ทุกคนปฏิบัติเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงไปพร้อมจิตใจที่แจ่มใสกันมากขึ้น ต้อนรับวันอนามัยโลก สำหรับบุคคลทั่วไปที่อยากออกกำลังกาย แต่ไม่มีเวลา ตั้งเป้าหมายในการออกกำลังกายอย่างชัดเจน แต่ต้องมีลักษณะค่อยๆเป็นค่อยๆไป ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหมในช่วงแรก เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบหรือได้รับบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ทำให้กลัวที่จะออกกำลังกายต่อไปหากทำได้ถึงเป้าหมายก็ค่อยๆเพิ่มเป้าหมายขึ้นทีละน้อยจนถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้ และควรระลึกไว้เสมอว่าการออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องเล่นกีฬาหรือต้องเข้าโรงยิมเพียงแค่เพิ่มกิจวัตรประจำวันก็สามารถเพิ่มการออกกำลังกายได้ เช่น ใช้บันไดแทนการใช้ลิฟท์ การเดินหรือปั่นจักรยานไปหน้าปากซอยที่บ้านแทนการนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างทำกายบริหาร หรือทำงานบ้านก็เป็นการออกกำลังกายช่วยลดน้ำหนักได้ทั้งนี้ ควรวางแผนการออกกำลังกายล่วงหน้า พร้อมทั้งทำสมุดบันทึกเพื่อเตือนให้ตัวเองไปออกกำลังกายตามตารางเวลาที่กำหนดหรือนัดหมายเพื่อนไปออกกำลังกายด้วยกัน เพื่อปรับนิสัยของการออกกำลังกายในวิถีชีวิตปัจจุบันของคุณเองให้กระฉับกระเฉงมากขึ้นหากมีอุปกรณ์ออกกำลังกาย ให้วางไว้ในตำแหน่งที่สังเกตได้ง่ายเพื่อเตือนให้ออกกำลังกายเพิ่มขึ้น
ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพก็สามารถออกกำลังกายอย่างมีประสิทธิภาพได้ไม่ยาก อย่างผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพสามารถออกกำลังกายได้เพราะการออกกำลังกายไม่ทำให้สุขภาพแย่ลงแต่ต้องมีการเตรียมตัวและเลือกวิธีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่น การเดินไกล เดินเพื่อสุภาพ, วิ่งเหยาะ, ว่ายน้ำ, เต้นแอโรบิค อย่างน้อย 30 นาที สามารถแบ่งเป็นครั้งละ 10 นาที หรือ 3 ครั้งต่อวันเพื่อเพิ่มสมรรถนะของระบบหัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะผู้สูงอายุควรออกกำลังกายเป็นกลุ่มๆเพราะจะทำให้เกิดความเพลิดเพลินและไม่รู้สึกเบื่อที่จะออกกำลังกายถ้าผู้สูงอายุท่านใดมีสมรรถภาพทางกายที่ต่ำหรือเพิ่งเริ่มออกกำลังกายให้เริ่มออกกำลังกายประมาณ 10-15 นาทีจากนั้นค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาให้มากขึ้นจนกระทั่งสามารถทำได้อย่างต่ำครั้งละ 30 นาทีส่วนผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่อาจจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายต่อโครงสร้างของร่างกาย เช่น หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่รับน้ำหนักมากๆ บริเวณเข่า หรือหลังนอกจากนั้น การบริโภคอย่างสมดุลถือเป็นหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพดี ควรบริโภคอาหารและเครื่องดื่มให้สมดุลกับปริมาณแคลอรีที่ใช้ไปหรือเผาผลาญออกไป ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกท่านควรเข้าใจและนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ
หมายเหตุ: ข้อมูลอ้างอิงทั้งหมดจาก
http://exerciseismedicine.org/documents/EIMFactSheet2012_all.pdf
http://www.who.int/dietphysicalactivity/publications/9789241599979/en/
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit