กสอ. เร่งเครื่องหนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเพื่อปั้นสู่ตลาดต่างประเทศ

09 Apr 2014
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกำหนดยุทธศาสตร์การสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมเร่งเครื่องหนุนการพัฒนา “ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา” ภายใต้โครงการการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จะมีการพัฒนาและต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา หากสามารถพัฒนาจนมีการค้า การขาย กับตลาดต่างประเทศได้ จะสร้างมูลค่าการค้าจำนวนมาก เนื่องจากเป็นสินค้าจากวัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน และไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ หากผู้ซื้อได้ทราบถึงประวัติความเป็นมา แรงบันดาลใจในการผลิตสินค้าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ที่ต้องใช้ระยะเวลาการผลิต ประสบการณ์และความชำนาญจนเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละชิ้นงาน ผู้ซื้อจะเกิดความภูมิใจในการเป็นเจ้าของ สุดท้ายจะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ในท้องถิ่น ขึ้น โดยในปี 2557 เป็นปีแรกที่ได้ดำเนินโครงการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์โดยใช้ทุนวัฒนธรรมของ 5 วัฒนธรรม ประกอบด้วย (1) วัฒนธรรมอยุธยา-ธนบุรี-รัตนโกสินทร์ พื้นที่ภาคกลาง (2) วัฒนธรรมล้านนา พื้นที่ภาคเหนือตอนบน (3) วัฒนธรรมศรีโคตรบูรณ์-ล้านช้าง พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (4) วัฒนธรรมอาณาจักรศีจนาศะวิมายปุระ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (5) วัฒนธรรมลังกาสุกะ พื้นที่ภาคใต้ เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2557 จะมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนารวมทั้งสิ้น ๘๐๐ ผลิตภัณฑ์ และผู้ประกอบการจำนวน 400 ผู้ประกอบการ

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการฯ ในวันนี้ นอกจากเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการโครงการฯ การแสดงตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมต่างๆ และยังเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการฯ ไปยังผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการพัฒนาของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว และขยายฐานผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการฯ กลุ่มเป้าหมายหลักในการดำเนินโครงการฯ จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 3 ดาวขึ้นไป รวมถึงผู้สนใจทั่วไป ซึ่งแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ (1) ผลิตภัณฑ์อาหาร (2) ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม (3) ผลิตภัณฑ์ผ้า (4) ผลิตภัณฑ์ของใช้ของตกแต่ง และ (5) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มิใช่อาหาร ซึ่งผู้ประกอบดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยเป็นดินแดนที่มีความรุ่งเรืองด้วยวัฒนธรรมสืบเนื่องมาเป็นเวลานานนับพันๆ ปี การดำเนินโครงการนี้ จึงเป็นการดึง “คุณค่าเดิม” ที่มีอยู่แล้วในตัวผลิตภัณฑ์มาเชิดชูและเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตปัจจุบัน ให้มีความโดดเด่นขึ้นมา จนเกิด “เสน่ห์หรือการชื่นชม” โดยการขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ ผสานการออกแบบเชิงนวัตกรรม ก่อเกิดเสน่ห์อันน่าชื่นชม ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้าง “การยอมรับ” จนเกิดมูลค่าใหม่ขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชนติดต่อ

นางสาวอริยาพร สุรนาทยุทธ์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 6681-567-1999 [email protected]