ดังนั้น การเตรียมพร้อมเข้าสู่สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ต้องเริ่มที่คนไทยทุกคนในฐานะเจ้าบ้านต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการขยะโดยคัดแยกขยะมาใช้ประโยชน์ ทั้งใช้ประโยชน์เองที่บ้าน สำนักงาน อาคาร ตลาด ห้าง ร้าน ต่างๆ หรือคัดแยกตามประเภทการใช้ประโยชน์ส่งให้กรุงเทพมหานครนำไปใช้ประโยชน์ ลดปริมาณขยะที่ต้องทิ้งให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บ โดยขยะประเภทแรกที่ต้องระดมความร่วมมือคัดแยกคือ “ขยะรีไซเคิล” เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ขายหรือบริจาค เพราะขยะเหล่านี้ไม่เน่าเสีย และเป็นทรัพยากรหมุนเวียนที่สำคัญมาก การคัดแยกควรมีถังรับขยะรีไซเคิลไว้ต่างหาก บางที่อาจแยกหลายถังเช่นถังแก้ว พลาสติก กระป๋องสังกะสีหรือโลหะ เพื่อสะดวกในการคัดแยกขาย และเพื่อไม่ให้ขยะปนเปื้อนเศษอาหารสามารถหยิบจับแยกไปขายได้ง่าย โดยไม่มีเชื้อโรคหรือกลิ่นที่น่ารังเกียจ ถือเป็นสินค้าที่สามารถสร้างรายได้อีกส่วนหนึ่งได้ หากทุกบ้าน ทุกที่คัดแยกขยะรีไซเคิลทุกชนิดไว้ต่างหาก จะทำให้ขยะในถังลดลงถึงร้อยละ 30 หรือเกือบ 3,000 ตัน เมื่อเทียบกับขยะที่มีอยู่ประมาณ 10,000 ตันต่อวันในปัจจุบันทีเดียวครับ
ขยะย่อยสลายได้ หรือขยะอินทรีย์ มีมากกว่าครึ่งในกองขยะของกรุงเทพมหานคร การคัดแยกใช้ประโยชน์ที่แหล่งกำเนิดเช่นตลาด ร้านอาหาร สถานศึกษา โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โดยนำไปเลี้ยงสัตว์ นำไปหมักทำไบโอแก๊สและนำแก๊สมาทำเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการหุงต้ม หรือนำไปทำปุ๋ยหมักสำหรับบำรุงรักษาต้นไม้ หรือหมักน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพสำหรับบำรุงรักษาต้นไม้ ทำน้ำยาอเนกประสงค์ บำบัดกลิ่น บำบัดน้ำเสีย หรือคัดแยกส่งให้กรุงเทพมหานครนำไปหมักทำปุ๋ย ซึ่งหากมีการคัดแยกขยะอินทรีย์กันอย่างจริงจังและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งที่แหล่งกำเนิดและที่โรงงานกำจัด จะช่วยให้เราสามารถนำขยะอินทรีย์มาใช้ประโยชน์ได้ถึงร้อยละ 50 หรือประมาณ 5,000 ตันจากขยะที่มีอยู่ 10,000 ตันในปัจจุบัน
เพียงเราคัดแยกขยะรีไซเคิลและขยะอินทรีย์ออกไปใช้ประโยชน์แล้ว ขยะที่กรุงเทพมหานครจะต้องจัดเก็บจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 20 หรือประมาณ 2,000 ตันจากขยะที่มีอยู่ 10,000 ตันในปัจจุบัน ซึ่งขยะที่เหลือนี้ยังมีขยะอีก 3 ประเภทที่ต้องแยกไปกำจัดให้ถูกวิธีคือ “ขยะอันตราย” เช่นหลอดฟลูออเรสเซ้นต์ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่ใส่สารเคมี กระป๋องสี ขยะอิเลคทรอนิค ฯลฯ ขยะเหล่านี้ต้องแยกกำจัดด้วยวิธีที่ปลอดภัยโดยนำไปปรับเสถียรให้เป็นกลางเสียก่อนกำจัดด้วยวิธีฝังกลบหรือเผา ไม่ทิ้งรวมไปในขยะทั่วไปเพราะจะทำให้สารเคมีอันตรายแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งจากการศึกษาของผู้เชียวชาญพบว่ามีขยะอันตรายจากบ้านเรือนประมาณร้อยละ 3 ของขยะทั้งหมดหรือประมาณ 300 ตันต่อวันเมื่อเทียบกับขยะ 10,000 ตันต่อวันในปัจจุบัน ขยะอีกประเภทหนึ่งคือ “ขยะทั่วไป” ที่เหลือร้อยละ 17 ยังต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ “ขยะที่เผาไหม้ได้” เช่นถุงพลาสติก เศษหนัง เศษผ้า เศษยาง เศษไม้ เศษพลาสติก เป็นต้น สามารถนำไปเข้าเตาเผาสำหรับผลิตปูนซิเมนต์หรือผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งต้องแยก “ขยะที่เผาไหม้ไม่ได้” เช่นเศษแก้ว กระเบื้อง เซรามิค เปลือกหอย เศษหิน เศษปูน ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์โดยการถมที่ได้หรือต้องนำไปกำจัดโดยวิธีฝังกลบเท่านั้น แต่ปัจจุบันกรุงเทพมหานครยังฝังกลบขยะทั่วไปอยู่ ยังไม่มีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ จึงยังไม่ได้รณรงค์ให้แยกขยะส่วนนี้ แต่ในอนาคตถ้ามีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เราชาวกทม.ก็คงต้องทำหน้าที่คัดแยกขยะส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์ได้อีก
การคัดแยกขยะทำได้ไม่ยาก เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการ “ทิ้งรวม” ให้เป็น “ขยะ” เป็นภาระที่ต้องจัดการสูญเสียทั้งเงินและสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นการ “คัดแยก” ไว้ใช้ประโยชน์หรือ “คัดแยก” เพื่อนำไปกำจัดแยกประเภทเพื่อใช้ประโยชน์ “ทรัพยากร” อย่างคุ้มค่า ลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายการกำจัด ลดการสูญเสียทรัพยากร ได้สภาพแวดล้อมที่ดี สะอาด บ้านเมืองมีระเบียบ สามารถป้องกันปัญหาขยะล้นเมืองหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้
ก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างภาคภูมิ ไม่เกิดปัญหาขยะล้นเมือง ด้วยเราทุกคน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทิ้งขยะ จากการ“ทิ้งรวม” ให้เป็น “ขยะ” เป็นการ “ทิ้งแยก” เป็น “ทรัพยากร” และเปลี่ยน “ภาระ” ที่ต้องจัดการขยะ เป็น “ภารกิจ” ในการจัดการทรัพยากร เพื่อกรุงเทพมหานครเป็นมหานครที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนและเป็นมหานครแห่งอาเซียนต่อไปด้วยมือของเราทุกคน
“รักกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯ กับหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit