นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเข้ามาเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศให้ดียิ่งขึ้น เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สามารถจะเป็นกำลังผลิตหลักตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในบริเวณภาคเหนือได้เป็นอย่างดี โครงการนี้มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,878 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ประกอบด้วยโรงไฟฟ้า 3 หน่วย กำลังผลิตติดตั้งหน่วยๆ ละ 626 เมกะวัตต์ โดยจะผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้กับประเทศไทย 1,473 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้กับ สปป.ลาว 100 เมกะวัตต์และส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับขบวนการผลิตทั้งในส่วนของเหมืองและโรงไฟฟ้า“กระแสไฟฟ้าจากโครงการจะสามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 8 ล้านคน โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการนี้จะจำหน่ายแก่ กฟผ. ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระยะเวลา 25 ปี โดยส่งผ่านระบบสายส่ง 500 กิโลโวลต์ จากโครงการฯ ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงน่าน 2 อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เพื่อเสริมระบบไฟฟ้าของไทย โดยโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1 จะจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบในเดือนมิถุนายน ปี 2558 ส่วนหน่วยที่ 2 และหน่วยที่ 3 มีกำหนดจะจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2558 และเดือนมีนาคม ปี 2559 ตามลำดับ ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้า หงสามีแผนทดสอบการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่สำคัญต่างๆ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 จนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2558 เพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพของอุปกรณ์และระบบต่างๆ ของโรงไฟฟ้าอยู่ในระดับมาตรฐานสากล และมีความพร้อมทั้งทางด้านประสิทธิภาพการผลิตและการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มศักยภาพ” นายพงษ์ดิษฐ กล่าวเพิ่มเติม
ปัจจุบัน โครงการโรงฟ้าหงสาอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งมีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ 80 ทั้งงานด้านโรงไฟฟ้า งานก่อสร้างระบบส่งและสถานีไฟฟ้าแรงสูง งานก่อสร้างติดตั้งอุปกรณ์เหมืองถ่านหิน งานขุดเปิดหน้าดิน งานก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในการผลิต โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา มีมูลค่าโครงการประมาณ 3,710 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 120,000 ล้านบาท ดำเนินงานโดยบริษัท หงสา เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)(ถือหุ้นร้อยละ 40) บริษัท บ้านปูเพาเวอร์ จำกัด (ถือหุ้นร้อยละ 40) และรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว (ถือหุ้นร้อยละ 20) ส่วนการจัดหาเชื้อเพลิงโครงการได้รับสัมปทานเหมืองลิกไนต์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้า และเป็นการร่วมทุนของทั้ง 3 บริษัทดังกล่าว