ไอดีซีระบุ ตลาดพีซีไทยปลายปีหดตัวต่ำสุดตั้งแต่ปี 2552

16 Apr 2014
ยอดจำหน่ายพีซีในประเทศไทยในปี 2556 มีการหดตัวในระดับตัวเลขสองหลัก นับเป็นครั้งแรกในตลอดช่วงระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา โดยลดลงทั้งในส่วนของตลาดโน๊ตบุ๊คและเดสท๊อปอย่างมาก

จากรายงานการสำรวจตลาดพีซีรายไตรมาสของไอดีซีเอเชียแปซิฟิก พบว่า ตลาดพีซีในประเทศไทยมียอดจำหน่ายเพียง 3 ล้านเครื่องในปี 2556 คิดเป็นสัดส่วนลดลงถึงร้อยละ 20 จากปี 2555

“โดยในปี 2556 สาเหตุเบื้องต้นที่ความต้องการของตลาดพีซีหดตัวลงนั้น เกิดจากการใช้งานแท๊ปเลตและสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น” กล่าวโดย จาริต สินธุ นักวิเคราะห์อาวุโส ตลาดไคลเอนต์ดีไวซ์ประจำไอดีซี ประเทศไทย

จาริตกล่าวว่า ระหว่างปีปัจจุบันนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย หนี้ภาคครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น และความไม่สงบทางการเมืองที่ยังไม่จบ กำลังส่งผลลบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค

“บรรดาธุรกิจขนาดเล็กตัดสินใจที่จะกำหนดแนวทางในการป้องกันและชะลอการลงทุนออกไปก่อน เนื่องจากการหดตัวลงของเศรษฐกิจภายในประเทศและธุรกิจส่งออก"

เขายังเสริมอีกว่า เหตุการณ์พลิกผันประการหนึ่งภายใต้สภาวะเช่นนี้คือการใช้จ่ายของภาครัฐฯ แม้ว่าจะมีผลกระทบจากการยุบสภาไปก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังคงถือว่าอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เมื่อรัฐบาลได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สอดคล้องกับแผนแม่บท “สมาร์ทไทยแลนด์” “การใช้จ่ายของภาคธุรกิจยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มการผลิต และ กลุ่มโทรคมนาคม ที่ถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่มีการใช้จ่ายค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ”

ไอดีซี คาดว่าตลาดพีซีของไทยในปี 2557 ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบทางการเมืองและการประท้วงตามท้องถนนในหลายพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลลบต่อความต้องการใช้งานพีซี ในช่วงครึ่งปีแรกของปี จากข้อมูลการคาดการณ์ล่าสุดของ ไอดีซี ยอดจำหน่ายพีซีของประเทศไทยในปี 2557 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 8

“แม้ว่าตลาดจะปรับตัวได้จากผลกระทบทางการเมืองและเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เมื่อมองภาพของตลาดพีซีในไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 แล้ว แสดงให้เห็นถึงว่าประเทศไทยไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเหตุดังกล่าวอีกต่อไป

ถึงแม้จะมีการชะลอในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 ไอดีซีคาดว่า จะยังคงมีความต้องการใช้งานพีซีที่แฝงอยู่จากทั้งในกลุ่มผู้บริโภครายย่อยและกลุ่มธุรกิจ เมื่อวิกฤติต่าง ๆ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว