นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวคำแถลงต่อที่ประชุมว่า การสร้างอัตลักษณ์ร่วมกันด้วยเจตนารมณ์ของความมีเอกภาพในความหลากหลายเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยใช้อัตลักษณ์ดังกล่าวในการรับมือกับโอกาสและข้อท้าท้ายที่เกิดขึ้นขณะที่อาเซียนมุ่งไปข้างหน้า และเราร่วมกันมุ่งสู่ปี ๒๕๕๘ ซึ่งจากนั้น อาเซียนจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ดังนั้น ความพยายามของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนที่จะสร้างประชาคมให้สามัคคีและเท่าเทียมถือว่ามีความสำคัญมาก ในขณะเดียวกัน เราต้องมีความพยายามมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสฯ ได้พิจารณาเอกสารแนวคิดเรื่อง “การสร้างค่านิยมหลักของอาเซียน” ที่ประเทศๆไทยเสนอ โดยจะมีการหารือในเรื่องนี้ต่อไป และยืนยันว่าการสร้าง อัตลักษณ์ร่วมกันของอาเซียน เป็นประเด็นเร่งด่วนสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เนื่องจากอาเซียนมุ่งมั่นที่จะรวมตัวเป็นประชาคมเดียวในสิ้นปี ๒๕๕๘
นางปวีณา กล่าวต่อว่า ขอให้ประเทศสมาชิกเพิ่มความพยายามและการร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และเน้นย้ำว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในประชาคมอาเซียนและประชาคมอื่นๆ นอกอาเซียนมาช้านาน โดยต้องทุกภาคส่วนร่วมกันป้องกันและเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ปัญหานี้หมดไปจากสังคม และขอให้ทั้งสามเสาร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอาเซียนให้อยู่ดีกินดี โดยอาเซียนควรทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาความยากจน อาเซียนอาจส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในภูมิภาคโดยการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยว และการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของแต่ละประเทศ กิจกรรมเหล่านี้จะสร้างรายได้ที่สามารถช่วยบรรเทาสาเหตุของปัญหาสังคม รวมทั้งปัญหาความยากจน
“นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกควรส่งเสริมการทำงานร่วมกันโดยการอำนวยความสะดวกและการประสานงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นตัดขวาง อาทิ สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการภัยพิบัติ การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของสตรี เด็ก และผู้ด้อยโอกาส การรับผิดชอบต่อสังคม และการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน” นางปวีณา กล่าวตอนท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit