รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข หัวหน้าหลักสูตรการบริหารงานบุคคล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยถึงทิศทางในการบริหารงานบุคคลเพื่อรับมือกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า ทุกประเทศควรพัฒนาคนให้มีความพร้อมในการทำงาน ทั้งในเรื่องการประสานงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจและการไหลเวียนของเงินทุน เนื่องจากทั่วโลกมองว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความน่าลงทุนในอันดับต้น ๆ ของโลก เห็นได้จากสถิติของ New York Stock Exchange ซึ่งได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของ CEO ทั่วโลก เพื่อค้นหาภูมิภาคที่น่าลงทุน พบว่าอันดับ 1 คือ จีน อันดับที่ 2 บราซิล อันดับ 3 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับ 4 อาฟริกา อันดับ 5 สหรัฐอเมริกา และอันดับ 6 อินเดีย เมื่อทั่วโลกมองว่าเศรษฐกิจของอาเซียนน่าจะมีการเติบโตที่ดีเป็นอันดับต้น ๆ สิ่งที่ต้องคิดคือจะเกิดผลดีต่อประเทศไทยในแง่มุมใดบ้าง เนื่องจากในอาเซียนยังมีคนไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคธุรกิจ แม้จะมีประชากรจำนวนมากแต่คุณสมบัติไม่ตรงกับตลาดแรงงาน เห็นได้จากข้อมูลของกลุ่มที่ปรึกษาบริหารงานบุคคล Man Power Group ที่ระบุว่า เมื่อปี 2012-2013 ที่ผ่านมากลุ่มประเทศอาเซียนมีการลงทุนทางธุรกิจค่อนข้างสูง ทำให้เกิดความต้องการทรัพยากรบุคคลสูงตามไปด้วย เช่น มีตำแหน่งงานว่างอยู่ 100 ตำแหน่ง แต่หาคนมาทำงานได้ไม่ถึง 34 คน เนื่องจากไม่มีคนมาสมัครงานและมีคุณสมบัติไม่ตรงกับงาน
ดร.ศิริยุพากล่าวว่า ในปี 2015 จะมีการวัดความสามารถขององค์กรในการสรรหา พัฒนา และรักษาทรัพยากรบุคคล โดย Global Chaleange Index ทั้งนี้ การจัดอันดับที่วัดกันมาทั่วโลกระบุว่า สหรัฐอเมริกาติดอันดับหนึ่งและสิงคโปร์ติดอันดับ 6 ของโลก ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนนั้นพบว่าฟิลิปปินส์อันดับที่ 44 เวียดนามที่ 53 ไทยอันดับที่ 45 และอินโดนีเซียอันดับที่ 56 การจัดอันดับดังกล่าวบอกได้ว่าไทยมีปัญหาเรื่องบุคลากร แสดงให้เห็นว่าประเทศเราขาดคนเก่งและผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าสู่ตลาดแรงงาน ที่ผ่านมาองค์กรต่าง ๆ ต้องใช้วิธีแย่งกันซื้อตัวคนเก่งเข้ามาทำงาน เนื่องจากมาตรฐานการศึกษายังมีปัญหา หากไม่มีการพัฒนาเรื่องดังกล่าวประเทศไทยจะขาดบุคลากรมากขึ้น ในขณะที่คนรุ่นใหม่ขาดความอดทนในการทำงานและทำเพื่อเงินอย่างเดียว เมื่อได้ค่าจ้างสูงกว่าก็พร้อมจะไป ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อมด้านคุณสมบัติ ดังนั้น สถาบันการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ควรจับมือกันเพื่อผลิตคนให้เหมาะกับงาน โดยเน้นการผลิตบุคลากรเฉพาะทางให้มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงาน นอกจากนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันแรงงานที่มีอายุ 60-65 ยังคงอยู่ในตลาดแรงงาน เพราะหาคนเก่งรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาแทนไม่ได้ หรือยังไม่พร้อมกับตำแหน่งนั้นๆ ในขณะที่การพัฒนาคนรุ่นใหม่ยังไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นการศึกษาและพัฒนาคนรุ่นใหม่จึงมีความสำคัญมาก
“การสรรหาบุคลากรต้องทำในเชิงรุก กล่าวคือ องค์กรธุรกิจต้องจับมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ และควรมีการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้สอดคล้องกับงาน รวมทั้งเน้นการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น อาจไม่ต้องเดินทางมาทำงานในองค์กรไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานได้ทั่วโลก เพื่อให้องค์กรสามารถจ้างคนทำงานจากที่ต่าง ๆได้ทั่วโลกได้เช่นเดียวกัน” ดร.ศิริยุพากล่าวและเปิดเผยเพิ่มเติมว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนแล้ว สถานการณ์ทางการเมืองของไทยไม่มั่นคงต่อเนื่องตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ทุกอย่างชะลอตัว และทำให้ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคลได้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้การบริหารบุคคลถือว่าเป็นงานอยู่เบื้องหลัง แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าองค์กรขนาดใหญ่และขนาดกลางได้ให้ความสำคัญกับการบริหารบุคคลมากขึ้น ดังนั้น ฝ่ายบริหารบุคคลจึงเป็นงานเท่าเทียมกับฝ่ายอื่น ๆ ในองค์กร ซึ่งผู้บริหารต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะองค์กรต้องขับเคลื่อนด้วยทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ และการอยู่รอดขององค์กรขึ้นอยู่กับทรัพยากรบุคคล ซึ่งจะต้องเก่ง มีวิสัยทัศน์ที่ดี และมีทัศนคติในเชิงบวกกับการทำงาน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit