กรม คร. แถลงผลดีดีซีโพล ครั้งที่ 4 เผยช่วงหน้าร้อน ประชาชนกลัวการเจ็บป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง-อาหารเป็นพิษมากที่สุด

10 Apr 2014
กรมควบคุมโรคเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อโรคหรือดีดีซีโพล ครั้งที่ 4 เรื่องโรคและภัยสุขภาพจากการท่องเที่ยว ในกรณีโรคอาหารเป็นพิษ ผลสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ กลัวการเจ็บป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง/อาหารเป็นพิษมากที่สุด (ร้อยละ 62.1) กลุ่มตัวอย่างคิดว่าน้ำแข็งที่แบ่งขายตามท้องตลาดร้านอาหารไม่สะอาด (ร้อยละ 75.7) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กินอาหารสุกๆดิบๆ เช่น ปลาร้าดิบ ก้อยดิบ ลาบดิบ (ร้อยละ 61.2) นอกจากนี้เมื่อวิเคราะห์เพิ่มเติม พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในชนบท ส่วนใหญ่กินอาหารสุกๆดิบๆ เช่น ปลาร้าดิบ ก้อยดิบ ลาบดิบ (ร้อยละ 38.2) ไม่เคยล้างมือก่อนการเตรียมและปรุงอาหาร จากผลโพลจึงเน้นย้ำประชาชนยึดหลักป้องกันการป่วยด้วยมาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันและลดการเจ็บป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษอย่างยั่งยืน
กรม คร. แถลงผลดีดีซีโพล ครั้งที่ 4 เผยช่วงหน้าร้อน ประชาชนกลัวการเจ็บป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง-อาหารเป็นพิษมากที่สุด

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าวดีดีซีโพล ครั้งที่ 4 เรื่องโรคและภัยสุขภาพจากการท่องเที่ยว : โรคอาหารเป็นพิษ ที่กรมควบคุมโรคว่า จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษ โดยสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 2557 พบผู้ป่วยจำนวน 31,627 รายทั่วประเทศ คิดเป็นอัตราป่วย 49.79 สูงสุด 5 อันดับแรก คือ อุดรธานี หนองบัวลำภู อุบลราชธานี บุรีรัมย์ และตราด ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และ ภาคใต้ ตามลำดับ โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากคนรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสารพิษที่เชื้อโรคสร้างขึ้นเข้าไป การปนเปื้อนอาจเกิดขึ้นตั้งแต่แหล่งผลิตอาหาร แหล่งปรุงเสริฟอาหารหรือแม้กระทั่งปนเปื้อนขณะรับประทานอาหาร อาการที่พบ ได้แก่ ถ่ายเหลวมักร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ปวดท้องมาก คลื่นไส้ อาเจียน ไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวและปวดข้อ โรคอาหารเป็นพิษมักป่วยไม่รุนแรง ยกเว้นกรณีได้รับเชื้อปนเปื้อนชนิดรุนแรง ในรายที่เสียน้ำและเกลือแร่มาก ในกรณีเด็กหรือผู้สูงอายุ โรคนี้รักษาได้ตามอาการ โดยการทดแทนด้วยน้ำและเกลือแร่ ด้วยสารละลายเกลือแร่และน้ำตาลทางปาก

สำหรับผลดีดีซีโพลครั้งที่ 4 นี้ ได้กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 3,112 ตัวอย่าง เมื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนพบว่า ในช่วงอากาศที่ร้อนอบอ้าวอย่างนี้ โรคยอดฮิตเกี่ยวกับอาหารและน้ำ ที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต้องการให้กรมควบคุมโรคดำเนินการก่อนในอันดับแรกคือโรคอุจจาระร่วง คิดเป็นร้อยละ 53.8 รองลงมาคือโรคอาหารเป็นพิษในนักเรียน คิดเป็นร้อยละ 23.3 และโรคอหิวาตกโรค คิดเป็นร้อยละ 11.2 ตามลำดับ เมื่อเดินทางการเจ็บป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง/อาหารเป็นพิษ เป็นโรคที่กลุ่มตัวอย่างกลัวมากที่สุด ร้อยละ 62.1 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จากสภาพสังคมชนบท เมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษไม่สามารถทำน้ำเกลือแร่และไม่แน่ใจทำน้ำเกลือแร่ เพื่อรักษาตัวเองเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง คิดเป็นร้อยละ 59.1 และ 57.5 ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าน้ำแข็งที่แบ่งขายตามท้องตลาด ร้านอาหารไม่สะอาดและไม่แน่ใจ คิดเป็นร้อยละ 75.5 และ ร้อยละ 73 กลุ่มตัวอย่างจากสภาพสังคมชนบท กินอาหารสุกๆดิบๆ เช่น ปลาร้าดิบ ก้อยดิบ ลาบดิบ โดยกินเป็นประจำ 5-7 วัน/สัปดาห์ คิดเป็นร้อยละ 61.8 และจากสภาพสังคมเมือง คิดเป็นร้อยละ 38.2 และกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในชนบทไม่เคยล้างมือก่อนการเตรียมและปรุงอาหาร มากกว่าเป็น 2 เท่าของกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในเมือง

“วิธีป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ที่สำคัญคือการป้องกันการติดเชื้อทางอาหาร น้ำดื่มและทางมือ โดยคำแนะนำกรมควบคุมโรค เพื่อป้องกันตนเองจากโรคอาหารเป็นพิษเมื่อต้องเดินทาง ได้แก่ 1.ถ้าเตรียมอาหารไปจากบ้าน ไม่ควรเตรียมอาหารที่บูดเสียง่าย ควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท ไม่ควรเก็บในที่ร้อนเกินไป ไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป ถ้าเป็นไปได้ควรทำให้ร้อนก่อนรับประทาน 2.กรณีใช้อาหารกระป๋องสำเร็จรูป เลือกยี่ห้อและร้านค้าที่เชื่อถือได้ ฉลากอยู่ครบไม่ลบเลือน มีวันหมดอายุชัดเจน กระป๋องไม่มีรอยบุบหรือโป่ง 3.เมื่อรับประทานอาหารตามร้าน ควรเลือกร้านที่ได้รับการรับรอง เลือกทานอาหารที่ปรุงสุก ใช้วัตถุดิบที่สด จัดเก็บได้ถูกต้อง ไม่มีแมลงวันตอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเล เนื้อสัตว์และผักสด 4.เลือกซื้ออาหารที่ไม่ปรุงอาหารทิ้งไว้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะอาหารประเภทที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบจะเสียง่ายกว่าปกติ อาหารประเภทยำ ลาบ ต้องปรุงสุก 5.หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่คุ้นเคย เช่น เนื้อสัตว์ป่า เห็ดป่า ปลาปักเป้า แมงกะพรุนสดฯลฯ 6.ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนเตรียมอาหารและรับประทานอาหาร รวมทั้งหลังจากเข้าห้องน้ำ และ 7.ดื่มน้ำดื่มที่สะอาด ถ้าต้องดื่มน้ำนอกบ้าน เลือกดื่มน้ำเปล่าบริสุทธิ์ที่มีตรา อย. และถ้ามีความจำเป็นต้องดื่มน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ควรนำมาต้มให้เดือดเสียก่อน ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร. 02 590 3183 หรือ โทรสารด่วน 1422” นพ. โสภณ กล่าวปิดท้าย