นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจนับเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกกำลังหันมาให้ความสนใจในประเทศแถบเอเชียมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรุดหน้า โดยเฉพาะจีน และอินเดีย ดังนั้น การกระชับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนเพื่อรักษาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากยิ่งขึ้น จากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้เกิดตลาดในภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ หากมีการขยายความร่วมมือการค้าเสรีกับคู่ค้าสำคัญอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 3,000 ล้านคน จึงนับเป็นโอกาสทางการตลาดอันมหาศาลสำหรับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมไทย ซึ่งหากมองในภาพรวม การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะช่วยให้ประเทศสมาชิกมีความเป็นปึกแผ่นและช่วยสร้างอำนาจการต่อรองในเวทีการค้าต่าง ๆ ได้มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะ SMEs ก็ต้องปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่หลากหลายและแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ทั้งในด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุน และการแสวงหาโอกาสจากสิทธิพิเศษต่าง ๆ โดยเฉพาะ ประเทศกลุ่ม CLMV ที่สำคัญต้องศึกษาแนวโน้มความต้องการของตลาดอาเซียน ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการย้ายฐานการผลิตไปยังแหล่งวัตถุดิบและแรงงานที่ถูกกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ต้องเรียนรู้วิธีที่จะรักษาทรัพยากรบุคคลเพื่อป้องกันการถูกแย่งชิงแรงงานที่มีฝีมือ
นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของเสถียรภาพของประเทศแล้ว ความมีธรรมาภิบาล ก็มีความสำคัญไม้แพ้กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องเร่งแข่งขันกันเพื่อประกอบการ ให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นการประกอบการที่รับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมนั้น ๆ สามารถดำรงอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างราบรื่น เกิดการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วย เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) สู่การผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าเตรียมรับมือกับ AEC ได้อย่างสร้างสรรค์ และยั่งยืน
นางอรรชกา กล่าวต่อว่า ภาคอุตสาหกรรมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นอุตสาหกรรมหลักที่สามารถทำรายได้ให้ประเทศกว่า 2.04 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.82 ของมูลค่าส่งออกรวมของประเทศ ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง ซึ่งข้อดีของ SMEs คือ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้คล่องตัว แต่ถึงกระนั้นในภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนตลอดเวลา ประกอบกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัว เสริมความแข็งแกร่งให้ตนเอง เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน การพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรม และกระบวนการจัดการในระบบการผลิตเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพรอบด้าน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจในการเสริมสร้างสมรรถนะด้านต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ส่วนพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องเรือน กองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาบุคคลากรในภาคอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ AEC ในหลักสูตร “พิซซ่า โมเดล” โมเดล ความอยู่รอดอุตสาหกรรม SMEs ในยุควิกฤต ระดมสมองยักษ์ใหญ่สร้างโมเดลปฏิรูปอุตสาหกรรม SMEs เพื่อการอยู่รอดอย่างสร้างสรรค์รับมือ AEC และการค้าชายแดน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาให้ผู้ปะกอบการ SMEs สามารถดำเนินการค้าในเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย 6 โมเดล ได้แก่
1. การพัฒนาตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niches Development)
2. กรอบความคิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Mindset)
3. การบริหารการเงินอย่างชาญฉลาด (Financially Guru Smart)
4 กลยุทธ์เครือข่ายธุรกิจ (Network Strategy)
5. การสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Opportunity)
6. กรอบความคิดที่ถูกต้อง (Right Mindset)
ทั้งนี้ กสอ ได้จัดกิจกรรม การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พิซซ่า โมเดล” พร้อมเวทีระดมความคิด อันประกอบไปด้วย การปาฐกาถาพิเศษ การเวิร์กชอป แฃะการเสวนาโดยวิทยากรที่มีชื่อเสียงทั้งจากภาครัฐและเอกชน อาทิ คุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันและกรรมการบริหารสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คุณบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) คุณเอกสิทธิ์ อเนกสิทธิสิน เลขาธิการสมาคมธุรกิจค้าไม้ และคุณณรงค์ ประเสริฐศรี สำนักงานทูตการเกษตร สถานทูตสหรัฐอเมริกาเพื่อหาทางออกวิกฤตอุตสาหกรรม SMEs ของชาติ ซึ่งวิทยากรแต่ละท่านก็มีคลังความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป เมื่อนำมาวางจัดเรียงอย่างสวยงาม ก็ก่อให้เกิดพิซซ่าที่กล่อมกลมพร้อมหาทางออกในการแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ โดยตั้งเป้าหมายให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมไม่เพียง กลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ไทยสามารถเข้าใจในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สามารถประเมินความอยู่รอดของตนเอง ในสภาวะวิกฤตินี้ได้ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง
ด้าน นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าวว่า จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปี 2555 ประกอบกับวิกฤตการเมืองในประเทศ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมนำเข้าและอุตสาหกรรมเพื่อผลิตและจำหน่ายในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อ SMEs ของไทย ทำให้ยอดขายทั้งปีเฉลี่ยลดลงร้อยละ 15-20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือนให้มีการชะลอตัวตามไปด้วย โดยเฉพาะ SMEs ของอุตสาหกรรมไม้ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าภาคการส่งออกอาจทรงตัวหรือขยายตัวลดลงไปจนถึงกลางปีนี้เลยทีเดียว ซึ่งปัญหาใหญ่ของ SMEs อุตสาหกรรมไม้ นอกจากจะมีแนวโน้มทรงตัวและลดลงแล้ว ต้นทุนการผลิตยังสูงขึ้น ซึ่งธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่ เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและรายย่อยซึ่งขาดอำนาจการต่อรองกับซัพพลายเออร์กลางน้ำและต้นน้ำ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าราคาแพงมากขึ้น ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลง ขณะเดียวกันลูกค้าต่างประเทศก็ไม่มั่นใจในเสถียรภาพของกิจการ จึงทำให้กำลังซื้อหยุดชะงัก ส่งผลต่อเนื่องสู่ปัญหาการขาดสภาพคล่อง เกิดเป็นภาวะหนี้สะสม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมไม้ ดังนั้น ภาครัฐจึงมีส่วนสำคัญในการออกมาตรการด้านการเงินแก่กลุ่ม SMEs เพื่อช่วยสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ย่างแท้จริง อาทิ ปรับกฎระเบียบของธนาคารให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น จัดโครงการต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ตลอดจนการสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ เช่นเดียวกับที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดกิจกรรมสัมมนา “พิซซ่า โมเดล” ในครั้งนี้ ที่ภาครัฐและเอกชนเห็นความสำคัญของการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต จึงต้องมาร่วมกันหาทางออกและขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อความอยู่รอดของ SMEs ของไทย เพื่อการการพัฒนาอุตสาหกรรม SMEs ไทยอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม กสอ. ได้จัดงานปาฐกาถาพิเศษพร้อมเวทีระดมความคิดหาทางออกวิกฤตเศรษฐกิจจากผู้ประกอบการไทย ดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้อง Meeting room 3-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีข้าราชการ นักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ เข้าร่วมจำนวนมาก สำหรับผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2202 4414 – 18 หรือเข้าไปที่ http://www.dip.go.th