สถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาพิเศษ มศว เปิดคลินิกคัดกรองการพูด...หวังเด็กไทยพูดไทยให้ชัด

21 Feb 2014
รศ.ดร.ดารณี ศักดิ์ศิริผล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยว่า การพูดที่ถูกต้องชัดเจนของเด็กมีความสำคัญที่อยากให้ผู้ปกครองตระหนักและให้การส่งเสริมเด็กไทยทุกคนพูดให้ชัดเจน เพราะการพูดไม่ชัดเจนย่อมส่งผลต่อความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งสาเหตุของการพูดไม่ชัดก็มีหลายสาเหตุ จึงต้องมีการคัดกรองเพื่อค้นหาว่าเด็กคนใดพูดไม่ชัดเจนและมีการพูดไม่ชัดในลักษณะใด เพื่อเป็นข้อมูลในการนำไปใช้วางแผนให้การช่วยเหลือเด็ก รวมทั้งการส่งต่อเด็กเพื่อรับการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญต่อไป

จากการสำรวจการพูดของเด็กที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พบว่า นักเรียนออกเสียงไม่ชัดเจนร้อยละ 48.47 โดยพยัญชนะต้นที่เด็กออกเสียงไม่ชัดมากที่สุดคือ เสียง ร รองลงมาคือเสียง ส ส่วนเสียงที่ออกไม่ชัดน้อยที่สุดคือ ฟ เสียงพยัญชนะท้ายหรือตัวสะกดออกเสียงไม่ชัดในมาตราแม่ กด กน มากที่สุด รองลงมา คือ มาตราแม่ กก และ กง ส่วนเสียงพยัญชนะควบกล้ำออกเสียง ตร ไม่ชัดมากที่สุด ซึ่งการพูดไม่ชัดเกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ 2 ประการ คือโครงสร้างหรือการทำงานของอวัยวะเกี่ยวกับการพูดผิดปกติ และสาเหตุที่เกิดจากการเรียนรู้การพูดที่ไม่ถูกต้อง โดยสาเหตุอวัยวะเกี่ยวกับการพูดผิดปกติ เช่น ความบกพร่องในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะที่เกี่ยวกับการพูด มีผลทำให้ลิ้น เพดานหรือลิ้นไก่อ่อนแรง ความบกพร่องทางการได้ยิน เพราะไม่เคยได้ยินเสียงพูดที่ถูกต้องหรือชัดเจนของผู้อื่น

รศ.ดร.ดารณี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับสาเหตุจากการเรียนรู้การพูดไม่ถูกต้อง เช่น การเลียนแบบการพูดไม่ชัดของคนใกล้ชิด ผู้ที่ใกล้ชิดเด็กไม่ได้กระตุ้นให้เด็กพูดให้ถูกต้องชัดเจนตั้งแต่ยังเป็นภาษาพูดทำให้เด็กเกิดความเคยชินติดเป็นนิสัย ซึ่งการพูดไม่ชัดจากสาเหตุนี้ส่วนมากเป็นเด็กก่อนวัยเรียนจนถึงอายุไม่เกิน 8 ปี ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก โดยธรรมชาติแล้วเด็กในช่วงนี้อาจจะมีวุฒิภาวะและประสบการณ์ในการใช้อวัยวะในการพูดไม่พร้อมเท่าที่ควร ทำให้เด็กเปล่งเสียงพูดผิดไปจากมาตรฐานของผู้ใหญ่ ถ้าเด็กพูดผิดบ่อยๆ โดยไม่ถูกปรับแก้ไขก็จะเกิดเป็นความเคยชินจนกลายเป็นพูดไม่ชัดแบบถาวร

สถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาพิเศษจึงเปิดคลินิกส่งเสริมการเรียนรู้ขึ้น เพื่อจัดให้บริการด้านการทดสอบการพูด โดยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจะทำการคัดกรองเบื้องต้นเพื่อค้นหาว่าเด็กมีจุดที่จะพัฒนาหรือส่งเสริมในเรื่องใดบ้าง แล้ววางแผนให้การช่วยเหลือต่อไป ซึ่งการสอนจะมีทั้งแบบตัวต่อตัว และเป็นกลุ่ม ” รศ.ดร.ดารณี กล่าว.

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาพิเศษ อาคาร 28 ชั้น 1 สำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา โทรศัพท์ 02-649-5000 ต่อ 1-5639 , 086-895-1616 http://rise.swu.ac.th.