เอสซีจี ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมประกาศผลการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2557 หรือ Thailand Robot@Home Championship2014 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมเยาวชนไทยในการพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีความสามารถติดต่อปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ เพื่อให้บริการและช่วยเหลืองานต่าง ๆ ในบ้านและที่พักอาศัย โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน
สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ (The Winner) ปีนี้มี 2 ทีมร่วมได้แก่ ทีม Dong Yang(ดงยาง) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยเขตหาดใหญ่และทีม 2IDR(ทูไอดีอาร์) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทำคะแนนรวมมาเป็นอันดับ 1 ร่วมกัน คว้าถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปครอง พร้อมทุนการศึกษาทีมละ 200,000 บาท สมาชิกในทีม Dong Yang(ดงยาง)ได้แก่นายปราการ จรูญสอนนายธีระนันท์ สุวรรณรัตน์นายปวริศร์ ฤทธิ์เมธีนายอมีน ราชาวนา
นายพิชัยพร ปมไล่นายชัยอนันต์ สุขโขทัยนายเอาว์ฟา เจะเลาะนายกิตติศักดิ์ ทองสงฆ์นายทศพร คงสุจริตนายเอกสิทธิ์ กาญจนาแก้วและอาจารย์ที่ปรึกษา อ. ดร. วฤทธิ์ วิชกูล ส่วนทีม 2IDR(ทูไอดีอาร์) ประกอบด้วย นายธนายุทธ พลายวัน นายณัฐพล เอี่ยมเจริญ นายสมวิท สาตแสงธรรม และอาจารย์ที่ปรึกษา อ. ดนุชา ประเสริฐสม
นอกจากนี้ ทีม Dong Yang(ดงยาง) ยังสามารถคว้าอีกหนึ่งรางวัลคือรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม (The Best Technique Award) ได้รับทุนการศึกษา 50,000 บาท อีกด้วย
คุณธนวงษ์ อารีรัชชกุลผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ – การบริหารกลางเอสซีจีกล่าวว่า จากความสำเร็จของการจัดแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และทีมเยาวชนไทยที่สามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยมาหลายสมัย ทำให้เอสซีจีเล็งเห็นถึงทักษะและความสามารถของเยาวชนไทยในการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมหุ่นยนต์ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง โดยเอสซีจีมุ่งส่งเสริมเยาวชนไทยพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ให้มีความสามารถติดต่อปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ เพื่อให้บริการและช่วยเหลืองานต่าง ๆ ในบ้านและที่พักอาศัยแทนมนุษย์ โดยเฉพาะ“การช่วยเหลือผู้สูงอายุ” ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ที่มาช่วยตอบโจทย์เทรนส์สังคมผู้สูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อาทิ การดูแลช่วยเหลือด้านการแพทย์ให้กับผู้สูงอายุ เป็นตัวกลางการติดต่อสื่อสารระหว่างสถานพยาบาลกับผู้ป่วย และการช่วยเหลือผู้สูงอายุด้านการหยิบจับและเคลื่อนไหวรวมถึงการสื่อสารพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกัน
ดร.ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “จากการแข่งขันจะเห็นได้ว่าเยาวชนไทยมีความสามารถทัดเทียมต่างชาติ เพราะมีความมุ่งมั่นตั้งใจ เรียนรู้เร็ว มีความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญน้องๆที่ผ่านการแข่งขันจะมีความมั่นใจในตัวเอง ในอนาคตเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเอกชน ในการประยุกต์องค์ความรู้ รวมถึงทักษะ ความชำนาญ ในการสร้างสรรค์หุ่นยนต์บริการมาพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อยกระดับการวิจัยและการพัฒนา (R&D) ให้กับองค์กร และประเทศชาติได้เป็นอย่างดี”
การแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ หรือ Robot@Homeเป็นการจำลองสถานการณ์และสถานที่ภายในบ้าน รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ เพื่อให้หุ่นยนต์ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือในบ้าน โดยจะมีการทดสอบหุ่นยนต์ตามภารกิจต่าง ๆ ตามกติกาและมาตรฐานการทดสอบ อาทิ หุ่นยนต์ต้องสามารถเคลื่อนที่หลบหลีกสิ่งกีดขวางไปยังตำแหน่งเป้าหมายที่กำหนดจากการรับคำสั่งเสียง หุ่นยนต์จะต้องเรียนรู้และจดจำลักษณะของบุคคลที่ไม่รู้จักมาก่อนและสามารถรับการสั่งและส่งวัตถุได้ มีกลไกที่สามารถเคลื่อนย้ายสิ่งของบนโต๊ะได้ รวมถึงการแสดงความสามารถพิเศษของหุ่นยนต์และการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์
โครงการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมที่เอสซีจีริเริ่มขึ้นในปี 2554 โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสามารถด้านการพัฒนาหุ่นยนต์บริการของเยาวชนไทยทั้งนี้
เอสซีจีมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนไทยพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมถึงสร้างโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกซึ่งความสามารถด้านนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติเพื่อให้เยาวชนเหล่านี้เป็นทั้งคนเก่งและดีและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปโดยเยาวชนหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.trs.or.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit