ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า เพื่อการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยงข้อง กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ทำหนังสือหารือถึงสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอความเห็นชอบว่า ประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ลงนามประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2556 และจัดกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องในวันศิลปินแห่งชาติ สามารถดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร โดย กกต. ได้ตอบข้อหารือดังกล่าวแล้วว่า หากเป็นการปฏิบัติภารกิจในอำนาจหน้าที่ทางราชการตามปกติเท่าที่จำเป็นก็สามารถดำเนินการได้ ซึ่งกระทรวงฯ ได้พิจารณาเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นการปฏิบัติตามภารกิจของกระทรวงวัฒนธรรมอยู่แล้วทุกปี ดังนั้น จึงได้ดำเนินการเสนอให้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ลงนามประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2556 เพื่อให้การจัดงานฯ ดำเนินการต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม หากขั้นตอนทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย กระทรวงวัฒนธรรมจะประกาศวัน เวลา และสถานที่จัดกิจกรรม ให้ทราบอีกครั้งหนึ่งดร.ปรีชา กล่าวต่อไปว่า กระทรวงวัฒนธรรม มองเห็นความสำคัญของศิลปินแห่งชาติ ซึ่งนับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะ ของชาติให้เชื่อมโยงจากอดีต มาสู่ปัจจุบันเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้มีความรุ่งโรจน์สืบไปยังอนาคตข้างหน้า ดังนั้น จึงจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อเผยแพร่ผลงานของศิลปินแห่งชาติผ่านกิจกรรมต่างๆที่จะจัดขึ้น เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงผลงานที่เป็นมรดกศิลปะอันล้ำค่าของชาติ เป็นเครื่องหมายแสดงอารยะธรรมอันสูงส่งของชาติไทย ควรแก่ความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ
ทั้งนี้ ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2556 มีจำนวน 9 คน ได้แก่ 1.สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ นายช่วง มูลพินิจ (จิตรกรรม) นายธีรพล นิยม (สถาปัตยกรรม) 2. สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นางรำไพพรรณ สุวรรณสาร ศรีโสภา หรือโสภาค สุวรรณ, นายวินทร์ เลียววาริณ และนายเจริญ มาลาโรจน์ 3. สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ นางนิตยา รากแก่น (หมอลำ) นายยืนยง โอภากุล (ดนตรีไทยสากล) นายบุญฉลองภักดี วิจิตร (ผู้กำกับ-ผู้สร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) และนายเฉลิม ม่วงแพรศรี (ดนตรีไทย)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit