นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 แม้ว่ามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งระบบเฉลี่ยต่อวันจะลดต่ำลงเมื่อเทียบกับปี 2556 แต่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของ DW ทั้งระบบเทียบกับมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งระบบสูงขึ้นเป็น 2.87% หรือเฉลี่ย 857 ล้านบาทต่อวัน ถือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่ที่ 2.04% ของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งระบบ สะท้อนถึงความนิยมในการเทรด DW ที่มากขึ้น โดยบริษัทคาดการณ์ว่าในปีนี้ตัวเลขดังกล่าวไม่น่าจะต่ำกว่า 3.5% เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อส่งทำให้ตลาดหุ้นยังมีความผันผวนสูงต่อไปจึงเป็นภาวะที่เหมาะกับการลงทุนใน DW ที่สามารถทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง ตลอดจนช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 คาดว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) น่าจะอนุญาตให้มีการออก DW อ้างอิงกับดัชนีหลักทรัพย์ที่เผยแพร่โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 32 ดัชนี ซึ่งในต่างประเทศเช่นฮ่องกง DW ประเภทนี้ได้รับความนิยมสูงมากไม่แพ้ DW ที่อ้างอิงกับหุ้นรายตัวทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ออก DW ทั้งสิ้น 13 ราย ซึ่งคาดว่าการแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดระหว่างผู้ออก DW แต่ละรายจะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยกลยุทธ์ส่วนใหญ่ที่พบคือ การออก DW ในหุ้นอ้างอิงที่มีความผันผวนสูงหรือการออก DW ที่อัตราทดสูงตลอดจนการออก DW ที่มีค่าเสื่อมเวลาต่ำ ซึ่งส่งผลดีต่อนักลงทุนที่จะมีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2556 ที่ผ่านมาทั้งระบบมีการออก DW ทั้งหมด 761 ตัวครอบคลุมทั้งหมด 71 หลักทรัพย์
“หลักทรัพย์บัวหลวงถือเป็นผู้นำตลาดในการออกผลิตภัณฑ์ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ซึ่งได้รับการตอบรับและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนเป็นอย่างมากโดยปัจจุบันบริษัทมี DW ที่ออกเสนอขายทั้งสิ้น 102 ตัว ครอบคลุมหุ้นอ้างอิงมากถึง 54 หลักทรัพย์ ครบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมและสามารถทำกำไรได้ทั้งตลาดขาขึ้นและตลาดขาลง โดยมีมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นสูงสุดครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ในปี 2556 ที่ 65.3% นอกจากนี้ ยังมียอดการถือครองโดยนักลงทุนสูงที่สุดในอุตสาหกรรมคิดเป็น 52.7% ของมูลค่ารวมของ DW ที่ครอบครองโดยนักลงทุน ซึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทมุ่งมั่นให้ความรู้และสร้างสรรค์เครื่องมือสนับสนุนด้านการลงทุนที่เป็นประโยชน์สำหรับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีการดูแลสภาพคล่องที่สม่ำเสมอโดย Market Maker” นายบรรณรงค์ กล่าว
นายบรรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดบริษัทได้พัฒนาเครื่องมือคำนวณราคาเหมาะสมของ DW01 เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้นักลงทุนกำหนดจุดเข้าซื้อขาย DW01 ได้อย่างแม่นยำ โดยนักลงทุนที่สนใจสามารถเข้าใช้งานเครื่องมือดังกล่าวที่ www.blswarrant.com ซึ่งการใช้งานไม่ซับซ้อนเพียงเลือก DW01 ที่ตนสนใจ และปรับเปลี่ยนราคาหุ้นอ้างอิงและอายุคงเหลือของ DW01 นั้น ระบบจะทำการคำนวณราคา DW ที่สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวให้ทันที
นอกจากนี้ หลักทรัพย์บัวหลวงยังมีการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่นักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม 2557 เวลา 13.00 น.-16.00 น. ในหัวข้อ “เทคนิคการใช้ Indicative Price Guideline กับการเทรด DW ยอดฮิตทั้ง 7” ที่บัวหลวงอินเวสเมนต์สเตชั่น อาคารซิลลิค เฮ้าส์ ชั้น 4 โดย DW ทั้ง 7 ตัวประกอบด้วย DW ที่อ้างอิงหุ้น AOT, BJC, BGH,IVL,KBANK,PTT และ TRUE ซึ่งเป็นที่นิยมมาก สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bualuang.co.th/investmentstation หรือ www.facebook.com/bualuangsec หรือ BLS Customer Service โทร 0 2618 1111
ทั้งนี้ บริษัทยังเตรียมออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant) หรือ DW จำนวน 14 ตัว เริ่มซื้อขายวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 โดยจะมี 6 ตัวที่อ้างอิงหุ้นใหม่ 3 หลักทรัพย์ที่บริษัทฯ ยังไม่เคยออกมาก่อน ได้แก่ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) บริษัทแอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น (SAMART) ซึ่งจะออกทั้งประเภทสิทธิในการซื้อ (Call Warrant) และสิทธิในการขาย (Put Warrant) ส่วนที่เหลืออีก 8 ตัวออกมาเพื่อรองรับ DW01 ที่จะครบกำหนดอายุในเดือนมีนาคมนี้ซึ่งอ้างอิงกับ 4 หลักทรัพย์ได้แก่ บมจ. ช. การช่าง (CK), บมจ. โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์(HMPRO), บมจ. แลนด์แอนด์เฮาส์ (LH), บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE)
ด้านนายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หุ้น AAV ได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมืองในประเทศและการแข่งขันในธุรกิจ ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทในระยะสั้น โดยมองแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินยังอยู่ในช่วงของการขยายตัวตามเศรษฐกิจโลก รวมถึงการเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของบริษัท เนื่องจากมีแผนการเปิดเส้นทางการบินใหม่ อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของหุ้นอยู่ที่บริษัทไม่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในช่วง 2 ปีข้างหน้า ทำให้การถือหุ้นระยะยาวของนักลงทุนหวังได้เพียงส่วนต่างจากราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปเท่านั้น (Capital Gain) ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์ได้ประเมินราคาเป้าหมายของหุ้น AAV ในปีนี้อยู่ที่ 4.40 บาท ซึ่งยังมี upside ประมาณ 13%
ส่วนหุ้น LPN นั้นก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมืองเช่นกัน ประกอบกับการขออนุญาตการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมพัฒนาโครงการได้ล่าช้ากว่าเดิม รวมถึงความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์เป็นอุปสรรคสำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ ในขณะที่แนวโน้มรายได้ปี 2557 ฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 6% จากปีก่อนและกำไรสุทธิเติบโตประมาณ 9% จากปีก่อน จึงมีโอกาสที่นักลงทุนจะเข้ามาลงทุน โดยราคาเป้าหมายของหุ้น LPN อยู่ที่ 17.20 บาท จึงมี upside ประมาณ 10.2%
ส่วนหุ้น SAMART มีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอและให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงกว่ากลุ่ม ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนกำไรกว่า 70% ของบริษัทมาจากบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย (SIM) และบริษัท สามารถเทลคอม (SAMTEL) ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ทำให้คาดการณ์กำไรสุทธิในปี 2557 จะมีอัตราการเติบโต 10.7% เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อนเป็น 1,577 ล้านบาท ขณะที่การเลื่อนเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 80 ล้านหุ้น ของบริษัท วันทูวัน คอนแท็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกจะยังเป็นประเด็นสนับสนุนให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไร โดยให้ราคาเป้าหมายของหุ้นอยู่ที่ 29 บาท ยังมี upside ประมาณ 85%
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit