ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า โรคไตกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุส่วนใหญ่ที่สุดร้อยละ 70 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่ง 2 โรคนี้มีสถิติผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน ผลที่ตามมาทำให้ไตเสื่อมหากไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนที่เหลือเกิดจากโรคนิ่วในไต ติดเชื้อที่ไต และเกิดจากการกินยาแก้ปวดติดต่อกันนาน ๆ และพบในผู้ป่วยโรคเอสแอลอี หรือที่รู้จักกันว่าโรคพุ่มพวง
จากข้อมูลล่าสุดพบคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดโรคแทรกซ้อนถึงเสียชีวิต มีผู้ป่วยที่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ประมาณ 40,000 ราย ซึ่งมีขั้นตอนในการรักษายุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละประมาณ 2 แสนบาทต่อคน ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีเพียงปีละ 400 รายเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดคือขาดแคลนผู้บริจาคไต ผู้ป่วยจึงต้องรักษาเพื่อยืดอายุโดยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างของเสียออกทางหน้าท้อง โดยในปี 2556 ที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณในการบำบัดทดแทนไตในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าในปี 2560 อาจจะต้องใช้งบประมาณกว่า 17,000 ล้านบาท มีผู้เสียชีวิตจากไตวาย 13,536 คน ประมาณ 1 ใน 3 ตายก่อนวัยอันควร อายุน้อยกว่า 60 ปี จากการรายงานของสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ พบผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจำนวน 8 ล้านคน มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10,000 คน ซึ่งโรคกลุ่มนี้เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง กินอาหารรสเค็มหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมเป็นประจำ คือ บริโภคอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูง โดยเฉพาะจากเครื่องปรุงรสเค็ม ได้แก่ เกลือ น้ำปลา กะปิ ซีอิ้วขาว ซอสปรุงรส ผงชูรส และผงปรุงรสต่าง ๆ รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปนิยมอาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งอาหารนอกบ้านที่ปรุงโดยคำนึงถึงแต่รสชาติแต่ไม่คำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภค
ดร.นพ.พรเทพกล่าวว่า เนื่องด้วยในวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันที่ International Federation of Kidney Foundation และ International Society of Nephrology ได้กำหนดให้เป็น “วันไตโลก” (World Kidney Day) กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันไตโลก (World Kidney Day) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม 2557 มีการจัดกิจกรรมรณรงค์สัปดาห์วันไตโลก ภายใต้หัวข้อ “โรคไต : เสี่ยงทุกวัย เป็นได้ทุกคน” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายได้จัดทำแนวทางพัฒนาเครือข่ายระบบบริการสุขภาพสาขาโรคไต มีเป้าหมายในระยะ 5 ปี เพื่อลดกลุ่มเสี่ยง ชะลอการเสื่อมของไตในผู้ป่วยไตเรื้อรังทุกระยะ เพิ่มการเข้าถึงบริการโรคไตที่มีคุณภาพ เสมอภาคทุกเครือข่าย และพัฒนาขีดความสามารถของสถานบริการสุขภาพรองรับการปลูกถ่ายไตและการเป็นศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สำหรับในปีนี้ มีเป้าหมายการพัฒนาใน 12 เขตบริการสุขภาพ ดังนี้ 1. ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้รับการค้นหาและคัดกรองโรคไตเรื้อรังร้อยละ 70 อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 2. จัดให้มีคลินิกดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ครบทุกแห่ง และโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็กและโรงพยาบาลชุมชน ร้อยละ 50 3.บริการล้างไตทางช่องท้อง และการฟอกเลือดด้วยเครื่องล้างไตเทียม โดยเพิ่มจำนวนเครื่องไตเทียมใน โรงพยาบาลภาครัฐ ลดระยะรอคิวบริการ ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ครบทุกแห่ง และในโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ที่เป็นแม่ข่าย (Node) ร้อยละ 80 4. มีระบบรับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลศูนย์ 8 แห่ง จะมีผู้บริจาคอวัยวะสมองตายที่ถูกนำอวัยวะไปปลูกถ่าย 200 ราย และมีผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะรวมทุกอวัยวะทั้งประเทศ 500 ราย ในปี 2557
นอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการลดการกินเค็ม ซึ่งจากข้อมูลของหน่วยงานด้านสุขภาพในหลายประเทศทั่วโลกได้เห็นความสำคัญในการลดการกินเค็ม จึงร่วมกันรณรงค์ “สัปดาห์ลดการกินเค็ม” (Low salt week) พร้อมกันทั่วโลก ในวันที่ 10-16 มีนาคม 2557 กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย จึงขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลของศูนย์อนามัย จัดกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนตลอดสัปดาห์
ด้านนาวาอากาศเอก นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในส่วนของการจัดกิจกรรมวันไตโลกในปีนี้ ถือเป็นปีพิเศษที่มีหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงการบริโภครสชาติเค็ม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยในปีนี้จะมีการจัดกิจกรรมดังกล่าวใน วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2557 ณ แกรนด์ฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 19.00 น. ภายใต้สโลแกน “โรคไต เสี่ยงทุกวัย เป็นได้ทุกคน” ทั้งนี้ยังมีการจัดงานสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม ในระหว่างวันที่ 10-16 มีนาคม 2557 นี้ควบคู่กันไป เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ และการป้องกันโรคอย่างเหมาะสมตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ
สำหรับ กิจกรรมภายในงาน“วันไตโลก” วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคมนี้ จะมีการจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เรื่องโรคไต แบ่งเป็นโรคไตวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยเกษียณอายุ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพไต รวมไปถึงนิทรรศการให้ความรู้ทางด้านโภชนาการจากเครือข่ายลดบริโภคเค็ม การเปิดรับบริจาคไต การตรวจสุขภาพ การเสวนาเรื่องโรคไตกับแพทย์โรคไต การสาธิตการทำอาหาร “เมนูอร่อย ดีต่อสุขภาพไต” โดย ดร.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ เชฟชื่อดังของเมืองไทย และการแสดงบนเวที โดยกลุ่มศิลปิน นักแสดง ดาราต่างๆ มากมาย อาทิ คุณแพนเค้ก เขมนิจ, คุณโรส ศิรินทร์ทิพย์, คุณหนุ่ย นันทกานต์, คุณ ป๊อบ แคลอรี่ บลา บลา , ดีเจ พี่อ้อย, ดีเจ พีเค, คุณเบล สุพล, คุณแอน ธิติมา, และศิลปิน จากค่าย KPN (คุณฟลุ๊ค, คุณอาฆ์ม, คุณโอ๊ต) เป็นต้น นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจำหน่ายเสื้อยืดวันไตโลก 2557 ในราคาตัวละ 200 บาท รายได้ส่วนหนึ่งมอบให้มูลนิธิโรคไต เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไต จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น สามารถดูรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ www.nephrothai.org
ด้าน ศ.นพ. เกรียง ตั้งสง่า ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย ถูกจัดอยู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน และจะก้าวสู่สังคมประเทศ ที่มีรายได้สูง ในอีกไม่นานนี้เป็นสังคมที่จะมีปัญหาเรื่อง สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น มีจำนวนประชากรคนไทยที่มีโรคเรื้อรังสำคัญ อันได้แก่โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจโรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก และเกิดอัมพาตเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ เกิดจากปัญหาด้านพฤติกรรมการดำเนินชีวิต และการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะกับสุขภาพและบริบทของผู้ป่วยและปัญหาที่สำคัญด้าน การบริโภคอาหาร สำหรับคนไทย คืออาหารที่มีรสเค็ม ความเค็มทำให้อาหารมีรสชาติดี ทำให้ครัวไทยถูกนำไปสู่เวทีครัวโลกแต่ในอีกด้านหนึ่ง ความเค็มในอาหารที่มากเกินพอดี ทำให้ผู้บริโภคเกิดปัญหาทางสุขภาพตามมา ได้แก่ โรคความดันสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรังทั้งที่ยังไม่วาย และโรคไตที่วายแล้ว ต้องการการฟอกเลือด ถามว่า อาหารไทยที่เราท่านรับประทานกันอยู่ทุกวัน ทั้งในบ้านและนอกบ้าน โดยรวมแล้ว มีความเค็มเกินพอดีหรือไม่ ? อาจมีผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่ ?
คำตอบคือ อาหารไทยหลายชนิด ทั้งที่ปรุงเอง หรือซื้ัอทานหรือที่เป็นอาหารกึ่งสำเร็จรูป มีความเค็มเกินพอดีหากช่วยกันลดการบริโภคอาหารเค็มได้ ก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงสนับสนุนการรณรงค์ลดการบริโภคเค็ม มาอย่างต่อเนื่อง การจัดกิจกรรม“วันไตโลก”และกิจกรรม“สัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม” ที่ท่านวิทยากรจะกล่าวในรายละเอียด ต่อไปนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาชน ในนามของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ผมอยากเชิญชวนประชาชนทั่วไปทุกท่าน โปรดสละเวลาไปเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ในงานนี้ด้วย
ด้านรศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนทุกกลุ่มวัยมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ มากขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง ทั้งอาหารที่มีรสจัดหวาน มัน เค็ม ขาดการบริโภคผักและผลไม้อย่างเพียงพอตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ คือ บริโภคผักและผลไม้ 400 – 500 กรัมต่อวัน รวมทั้งการมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนั้นพบว่า มีทั้งภาวะโภชนาการขาดและเกิน ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทั้งร่างกายและสติปัญญาที่ไม่เหมาะสมตามวัยมากขึ้น ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากการบริโภคเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ขนมขบเคี้ยวต่างๆ ที่มีส่วนประกอบหลัก คือ แป้ง น้ำตาล โซเดียม ในปริมาณสูง ซึ่งมีปัจจัยมาจากสิ่งเร้ารอบตัว เช่น โฆษณาจากสื่อ อาหารขนมและเครื่องดื่มจำพวกนี้ที่วางขายทั่วไปใกล้ตัวเด็กรวมทั้งในและนอกรั้วโรงเรียน ตัวแบบจากผู้ปกครอง วิถีชีวิตที่เร่งรีบ สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการมีกิจกรรมทางกาย และการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องอาหารและโภชนาการ ดังนั้นความร่วมมือจากเครือข่ายสุขภาพเพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักและให้ความรู้เรื่องลดการบริโภคเค็มที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง จะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนได้
ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ราชวิทยาลัยอายุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า คนไทยจะต้องลดอาหารเค็ม เพื่อรักษาไต จากการสำรวจพบว่าคนไทยบริโภคเกลือและโซเดียมสูงเกินกว่าที่แนะนำถึง 2 เท่า คือเกลือ 10.8 กรัม หรือโซเดียม 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน (องค์การอนามัยโรคแนะนำบริโภคเกลือ 5 กรัม หรือโซเดียม 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน) การรับประทานอาหารรสเค็มจัด จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงเพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง ทำให้หัวใจทำงานหนักก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายและความดันโลหิตสูง ความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
นอกจากนี้คนไทยได้รับโซเดียมจากการกินอาหารในแต่ละมื้อโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมักอยู่ในอาหารแปรรูป โดยเฉพาะจากเครื่องปรุงรสซึ่งนิยมใช้มาก 5 ลำดับแรก คือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรม เมื่อเปรียบเทียบจะพบว่าเกลือ 1 ช้อนชา มีปริมาณโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,160-1,420 มิลลิกรัม ซีอิ๊ว 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 960-1420 มิลลิกรัม ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะมีปริมาณโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,430-1,490 มิลลิกรัม ซอสหอยนางรม1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 420-490 มิลลิกรัม นอกจากนี้ ยังพบว่าอาหารถุงปรุงสำเร็จ มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ยต่อถุง 815 - 3,527 มิลลิกรัม อาทิ ไข่พะโล้ แกงไตปลา คั่วกลิ้ง เป็นต้น ส่วนอาหารจานเดียว จะมีปริมาณโซเดียม 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งจาน (เทียบเท่า 50-100%ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน) อาทิ ข้าวหน้าเป็ด ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู และข้าวคลุกกะปิ เป็นต้น
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาของผู้ป่วยโรคไต นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญในระดับชาติ ทั้งนี้ในปัจจุบันผู้ป่วย ที่ป่วยเป็นโรคไตมีอายุเฉลี่ยที่น้อยลง รวมถึงพบว่ามีผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไตในเด็ก เพิ่มสูงขึ้นมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด ขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม หรือพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่มักจะต้องเติมน้ำปลาหรือน้ำปลาพริกทุกมื้อ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยง จนเป็นสาเหตุในเรื่องของภาวะ ไตวายเรื้อรัง ซึ่งเป็นภัยเงียบรสเค็ม ซึ่งเป็นภาวะที่เนื้อไตถูกทำลายอย่างถาวร ทำให้ไตค่อย ๆ ฝ่อเล็กลง แม้อาการจะสงบแต่ไตจะค่อยๆ เสื่อมและเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด
สำหรับผู้ป่วยโรคไตนั้น มีหลากหลายสาเหตุและสามารถป้องกันได้ ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ เช่น การควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้ดี แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้ป่วยโรคไตบางคนละเลยการรักษา ทำให้ไตวายอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิต ดังนั้นผู้ป่วยโรคไต ควรปฏิบัติดังนี้ 1.พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ 2. ควบคุมความดันโลหิตน้อยกว่า 130 /80 และระดับน้ำตาลในเลือด 3.ควบคุมการทานอาหารรสเค็ม และจำกัดอาหารประเภทโปรตีน โดยให้บริโภคเกลือไม่เกินวันละ 5 กรัม ถ้าเทียบเป็นปริมาณโซเดียมก็ไม่ควรเกิน วันละ 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา 4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด ยาหม้อ ยาชุดโดยไม่ปรึกษาแพทย์ 4.เลิกบุหรี่และงดดื่มสุรา และ 5.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit