บริษัทสัญชาติอังกฤษมีแผนที่จะนำเข้าเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยและประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะมีการใช้อย่างแพร่หลายในอนาคต (Viral-technology) โดยเทคโนโลยี ‘พลาสมาก๊าซซิฟิเคชั่น’ คือการหลอมขยะด้วยพลาสมาความร้อนสูงเพื่อเปลี่ยนเป็นก๊าซ ผ่านกระบวนการทำความสะอาดและผ่านกังหันก๊าซหรือเครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engine/ gas turbine) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนสู่ระบบสายส่งในประเทศไทยภายในปี พ.ศ. 2559
มร. จอห์น ฮอลล์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวสต์ทูทริซิตี้ จำกัด กล่าวว่า “ตามที่รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนพลังงานในประเทศและปัญหาขยะล้นเมืองในปัจจุบัน ทำให้ไทยมีปริมาณขยะเพียงพอในการใช้เป็นแหล่งพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้าและมีตลาดรองรับที่แน่นอน โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในตลาดต่างประเทศที่เราจะนำเทคโนโลยี ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่ามีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง โดยเป็นระบบที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำและที่สำคัญมีส่วนช่วยในการจัดการปัญหาขยะแบบยั่งยืน"
มร. จอห์น ฮอลล์ กล่าวเสริมว่า “บริษัทฯ มองเห็นโอกาส และเชื่อมั่นในการขยายธุรกิจสู่ตลาดพลังงานของประเทศไทย โดยล่าสุดบริษัทได้บรรลุข้อตกลงการดำเนินการเชิงพาณิชย์ ได้รับลิขสิทธิ์แต่เพียงรายเดียวเท่านั้นในการนำเทคโนโลยี “พลาสมาก๊าซซิฟิเคชั่น” จากเวสติ้งเฮ้าส์พลาสมาก๊าซซิฟิเคชั่น ของ บริษัท อัลเตอร์ เอ็นอาร์จี คอร์เปอเรชัน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (32.57 ล้านบาท) และเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงของบริษัท เอเอฟซี เอเนอจี จำกัด (มหาชน) มูลค่า 1.2 ล้านปอนด์(64.96 ล้านบาท) ในการพัฒนาโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะในประเทศไทย”
นางสาวเพียงขวัญ ธรรมัครกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เวสต์ทูทริซิตี้ อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ลักษณะการทำงานของเราเป็นการทำงานร่วมกับลูกค้า หุ้นส่วนธุรกิจ และผู้ลงทุนในประเทศไทย ในการระดมทุน พัฒนา และบริหารจัดการโครงการแบบครบวงจร เป็นธุรกิจที่มีความคุ้มค่าลงทุนควบคู่ไปกับการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นธุรกิจสีเขียวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง”
"บริษัท เวสต์ทูทริซิตี้ จำกัด ได้มีส่วนร่วมในโครงการ “ทีส์ วัลเล่ย์ (Tees Valley) ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่เริ่มต้นในการเปลี่ยนขยะชุมชนจำนวน 350,000 ตันต่อปีเป็นกระแสไฟฟ้าจำนวนกว่า 50 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ต่อปี โดยใช้ระบบพลาสมาก๊าซซิฟิเคชั่น และเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 50,000 ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้นี้ บริษัท เวสต์ทูทริซิตี้ อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่าจะนำเซลล์เชื้อเพลิงอัลคาไลน์ของ เอเอฟซี เอเนอจี มาใช้แทนกังหันก๊าซหรือเครื่องยนต์สันดาปภายในเพื่อการผลิตไฟฟ้า เซลล์เชื้อเพลิงนี้ จะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสูงกว่าถึงร้อยละ 40 จากวัตถุดิบในจำนวนเท่ากัน ซึ่งโรงงานในประเทศไทยก็จะมีขนาดเท่ากับโครงการทีส์ วัลเล่ย์นี้"
"แผนการลงทุนของเราค่อนข้างจะมีความยืดหยุ่นในด้านอัตราส่วนระหว่างเงินลงทุนจากผู้ถือหุ้นและการจัดหาเงินทุนผ่านสถาบันการเงิน แต่ละโครงการใช้งบประมาณก่อสร้างระหว่าง 150 - 350 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (5 พันล้านบาท - 11,400 ล้านบาท) ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อเพลิงขยะที่มีและกำลังผลิตไฟฟ้าที่ต้องการ ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือก ทั้งจากการผลักดันแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของรัฐบาล มาตรการสนับสนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (adder) และมาตรการสนับสนุนด้านภาษีจากบีโอไอ รวมไปถึงการรับซื้อไฟฟ้าที่แน่นอนจาก กฟผ. ในขณะที่ความต้องการใช้พลังงานของประเทศที่มีเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 4.4 ต่อปีในอีก 15 ปีข้างหน้า ดังนั้น เราจึงมั่นใจว่าโครงการนี้จะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตที่สร้างความคุ้มค่าการลงทุนให้กับคู่ค้าและผู้ลงทุนของเรา ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน" เพียงขวัญ กล่าวสรุป
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit