สยามรีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ เผยโร้ดแม็ปแผนลงทุนกว่า 20,000 ล้านใน 6 ปี

05 Mar 2014
สยามรีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ เผยโร้ดแม็ปแผนลงทุนกว่า 20,000 ล้านใน 6 ปี ปรับโฉมทุกศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ พร้อมรุกโครงการใหม่ในตลาดภูมิภาค
สยามรีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ เผยโร้ดแม็ปแผนลงทุนกว่า 20,000 ล้านใน 6 ปี

สยามรีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ เผยรายได้รวมปี 2556 เติบโต 13% จากความสำเร็จของศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์, เทอร์มินอล ทเวนตี้วัน, เดอะ พรอมานาด และไลฟ์ เซ็นเตอร์ ชูจุดเด่นกลยุทธ์ Customer Centric มุ่งให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก พร้อมประกาศแผนการลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาทในช่วง 6 ปีข้างหน้า เพื่อปรับโฉมทุกศูนย์การค้า ควบคู่ไปกับขยายธุรกิจสู่ต่างจังหวัดสอดรับกระแสการขยายตัวของชุมชนเมือง (Urbanization) ด้วยแบรนด์ “เทอร์มินอล ทเวนตี้วัน” เริ่มที่โคราชปีนี้ ตามด้วยนครศรีธรรมราช และขอนแก่น

นายประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามรีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ผู้พัฒนาศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์, เทอร์มินอล ทเวนตี้วัน, เดอะ พรอมานาด และไลฟ์ เซ็นเตอร์ กล่าวว่า “ในปี 2556 กลุ่มสยามรีเทลประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ โดยมีรายได้รวม 4 ศูนย์ สูงถึง 2,970 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 10-13% ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่น่าพอใจท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา พร้อมมีอัตราการเช่าพื้นที่รวมทุกศูนย์ฯ ซึ่งสูงมากถึง 98 – 100% และยังมีร้านค้าที่ต้องการเข้ามาเช่าพื้นที่ใน Waiting List จำนวนมาก รวมทั้งมีจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้นเป็นที่น่าพอใจในทั้ง 4 ศูนย์การค้าอีกด้วย

นอกจากนี้ เรายังประสบความสำเร็จด้านชื่อเสียงอื่นๆ โดยเทอร์มินอล ทเวนตี้วัน ที่เปิดทำการมาได้ 2 ปีกว่า ได้สร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จแบบ “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” และติดตลาดอย่างรวดเร็ว จนได้รับรางวัลBest International Retail Development จาก The International Property Awards 2013 และได้รับเลือกให้เป็น Chic Shopping Destination อันดับที่ 13 ของโลกและอันดับ 1 ของประเทศไทยในอินสตาแกรมในปี 2011 ส่วนไลฟ์ เซ็นเตอร์ ก็นับว่าเป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ศูนย์กลางสุขภาพและความงามที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศไทย”

ทั้งนี้ สยามรีเทลเชื่อมั่นในแนวคิด รูปแบบ และวิธีการบริหารภายใต้กลยุทธ์หลักต่อไปนี้

  • แนวคิด Customer Centric มุ่งให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก มีการสำรวจความต้องการความพึงพอใจ เทรนด์ และไลฟ์สไตล์ของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อนำมาปรับปรุงส่วนผสมร้านค้า และบริการอยู่ตลอดเวลา เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบถ้วน ตัวอย่างเช่น การขยายที่จอดรถแฟชั่นไอส์แลนด์ให้รองรับได้สูงสุด 8,600 คันในอนาคต และการลงทุนด้านจัดการจราจรให้มีความคล่องตัวมากที่สุด เป็นต้น
  • การกำหนดและออกแบบส่วนผสมร้านค้า (Tenant Mix) ของศูนย์การค้าแต่ละแห่งให้สอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในพื้นที่นั้นๆ อย่างลงตัว ไม่ได้นำรูปแบบเดียวไปใช้กับทุกพื้นที่
  • การสร้างนวัตกรรมศูนย์การค้าอย่างต่อเนื่อง อาทิ การออกแบบตกแต่งห้องน้ำให้สวยงาม ใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ทันสมัยสำหรับทิศทางอนาคต สยามรีเทลได้เตรียมแผนการลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาทในช่วง 6 ปีข้างหน้า ปรับปรุงศูนย์การค้าเดิมให้รองรับความต้องการของทั้งลูกค้าและผู้เช่าให้ดียิ่งขึ้น ควบคู่กับรุกตลาดพัฒนาศูนย์การค้าใหม่ในต่างจังหวัด
  • แฟชั่นไอส์แลนด์ - มุ่งสู่ความเป็น Regional Mall ที่เป็น One-Stop Shopping Destination โดยจะมีการขยายพื้นที่อีก 40,000 ตร.ม. ซึ่งเมื่อรวมกับเดอะ พรอมานาด จะมีพื้นที่ถึง 510,000 ตร.ม. นับเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ รองรับการขยายตัวของชุมชนเมือง ที่พักอาศัย และประชากรในย่านรามอินทราอย่างต่อเนื่องปีละประมาณ 10% พร้อมทั้งมีพันธมิตรผู้เช่าหลักรายใหม่ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับโลก ได้แก่ H&M และ Uniqlo นอกจากนี้ ยังมีปรับส่วนผสมของร้านค้าบางส่วนเพื่อให้ดูทันสมัยมากยิ่งขึ้น
  • เดอะ พรอมานาด - ยังคงความเป็นไลฟ์สไตล์ช็อปปิ้งมอลล์ที่มีเอกลักษณ์ จะมีการขยายพื้นที่เพิ่มเติมอีก 3 ชั้น โดยเพิ่มร้านค้า Health & Beauty พร้อมเพิ่มโรงภาพยนตร์เข้ามารองรับในส่วนของ เอนเตอร์เทนเม้นท์
  • เทอร์มินอล ทเวนตี้วัน - เป็นศูนย์การค้าที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคใจกลางเมืองมากที่สุด โดยจะมีการเพิ่มพันธมิตรผู้ค้ารายอื่นๆ เข้ามาเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้า

สำหรับแผนการพัฒนาศูนย์การค้าใหม่ สยามรีเทลฯ จะมุ่งสู่ตลาดหัวเมืองใหญ่ที่มีศักยภาพ มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประชากรหนาแน่น และมีกำลังในการจับจ่าย โดยมีการวางกลยุทธ์และศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคด้วยตัวเอง ประกอบกับข้อมูลจาก บริษัท แอล แอนด์ เอช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มาทั่วประเทศ ซึ่งในเบื้องต้นพิจารณาไว้ 3 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราชและขอนแก่น โดยจะนำร่องที่นครราชสีมาเป็นแห่งแรก เพราะมีความพร้อมด้านพื้นที่มากที่สุด อีกทั้งมีจำนวนประชากรสูงถึง 2.6 ล้านคน ซึ่งสูงเป็นอับดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ ประชาชนในจังหวัดยังมีกำลังซื้อที่สูง โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนที่สูงถึง 71,409 บาทต่อปีในปี 2554

นายประเสริฐเสริมว่า “แบรนด์ที่จะเป็นหลักสำคัญในการรุกตลาดต่างจังหวัดคือ “เทอร์มินอล ทเวนตี้วัน” ซึ่งเราได้ทำการศึกษาแล้วพบว่าในต่างจังหวัด แถบหัวเมืองใหญ่ๆ ประชากรมีกำลังซื้อ ตลอดจนมีไลฟ์สไตล์และรสนิยมทันสมัย ใกล้เคียงกับคนกรุงเทพ จึงเชื่อมั่นว่า เทอร์มินอล ทเวนตี้วันจะเป็นฟอร์แมทที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างดีที่สุด แต่ทั้งนี้จะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียด และส่วนผสมร้านค้า เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่อย่างลงตัว”

“ธุรกิจค้าปลีกไทยในช่วงต้นปี 2557 ย่อมได้รับผลกระทบจากความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนั้น สัดส่วนรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงอย่างชัดเจน ธุรกิจจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ซื้อในประเทศแทน ทางรอดหนึ่งคือการขยายธุรกิจที่มุ่งเน้นไปยังหัวเมืองต่างจังหวัดซึ่งมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ดี นอกจากนั้น การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ก็ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าของจังหวัดพื้นที่ติดชายแดน ตลาดภูมิภาคจึงเป็นตลาดหลักที่สำคัญของธุรกิจค้าปลีกในช่วงปีนี้และปีหน้า” นายประเสริฐกล่าว

HTML::image(