ซีพีเอฟชูโมเดลกรีนฟาร์ม...สร้างสุขชุมชน

10 Mar 2014
ผลกระทบจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสังคมเมืองและการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อรูปแบบการเกษตรของมนุษย์ จากเดิมที่เป็น “เกษตรกรรมหลังบ้าน หรือ เกษตรพอเพียง” เข้าสู่ “ระบบเกษตรอุตสาหกรรม” มากขึ้น ทำให้ระบบการบริหารจัดการภายในฟาร์มต้องหันมาปรับตัวเพื่อให้รองรับทั้งความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

เมื่อปรับเข้าสู่ระบบเกษตรอุตสาหกรรมแล้ว สิ่งที่ไม่อาจละเลยได้คือการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน เพื่อไม่ให้การผลิตแบบเกษตรอุตสาหกรรมไปกระทบกับวิถีชีวิตและไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชน การผลิตภายใต้มาตรฐานสากลและสิ่งแวดล้อมโลก ควบคู่กับการผลิตที่ต้องมีประสิทธิภาพ ถูกนำมาเป็นมาตรฐานภาคบังคับของผู้ผลิตอาหาร โดยเฉพาะผู้นำในด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่มีทั้งโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และโรงงานแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะด้านการเลี้ยงสัตว์ ทั้งการเลี้ยงสุกร ไก่ไข่ และไก่เนื้อ ตั้งแต่ต้นทาง คืออาหารสัตว์ จนถึงปลายทางคืออาหารมนุษย์

วันนี้ขอหยิบยกหนึ่งในความสำเร็จในการที่ซีพีเอฟได้ปรับปรุงและพัฒนาวิธีการที่จะทำให้มูลสัตว์ที่เคยส่งกลิ่นเหม็นถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่ปราศจากกลิ่นรบกวน

น.สพ. ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ บอกว่า ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ถือเป็นหนึ่งในกิจการที่สำคัญของซีพีเอฟ ที่มีพื้นที่ดำเนินการอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นบริษัทจึงมุ่งมั่นพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมจากภายในฟาร์มเป็นอันดับแรก แล้วจึงต่อยอดสู่ภายนอกคือชุมชนรอบข้าง ด้วยการร่วมมือกันกับชาวชุมชนมาโดยตลอด ผ่านการรณรงค์ ดูแล รักษา ฟื้นฟู และคุ้มครองสภาพแวดล้อม รวมทั้งการประยุกต์ใช้มาตรฐานสากลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สัมฤทธิ์เป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ทั้งการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมสุขอนามัยและความปลอดภัย

“บริษัทได้พัฒนามาตรฐานขององค์กรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการยกระดับการบริหารจัดการฟาร์มสุกรของบริษัทสู่มาตรฐานฟาร์มสีเขียว หรือกรีนฟาร์ม เป็นรายแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2552 โดยมีกลุ่มธุรกิจสุกรเป็นต้นแบบ ปัจจุบันได้ถูกนำไปปรับใช้ ทั้งในส่วนของธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของบริษัท ตลอดจนผลักดันสู่เกษตรกรในโครงการคอนแทรคฟาร์ม รวมถึงโรงงานธุรกิจอาหาร” น.สพ.ดำเนิน กล่าว

ขณะนี้ คณะทำงานได้จัดทำมาตรฐานกลางสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการฟาร์มอย่างเข้มงวด และเตรียมที่จะประกาศให้ทุกฟาร์มของบริษัทนำไปใช้อย่างเป็นทางการ แม้ว่าทุกฟาร์มของบริษัทจะมีระบบการจัดการฟาร์มและการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว แต่มาตรฐานนี้จะทำให้ที่ทุกคนมีหลักปฏิบัติเดียวกันทั้งหมด เพื่อความมั่นใจของชุมชนและผู้บริโภคที่จะได้บริโภคอาหารที่มาจากฟาร์มมาตรฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง มาตรฐานนี้ประยุกต์ขึ้นจากหลักบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล ที่ประกอบด้วย การวางแผน การนำไปปฏิบัติ การติดตามตรวจสอบ การตรวจติดตามคุณภาพภายในและการทบทวนโดยมีผู้บริหารร่วมด้วย

“มาตรฐานฟาร์มสีเขียวที่สร้างขึ้นนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อสังคมและชุมชนว่า กิจกรรมหรือการดำเนินการต่างๆ ของบริษัท ได้มีการพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย ทั้งของผู้ปฏิบัติงานและชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้ฟาร์มและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุช” น.สพ.ดำเนิน กล่าวย้ำ

น.สพ.ดำเนิน อธิบายว่า มาตรฐานฟาร์มสีเขียวในนิยามของซีพีเอฟ คือ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่มีการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีสภาพแวดล้อมที่สวยงามน่าอยู่ และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพปลอดภัย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ส่วนเส้นทางการพัฒนามาตรฐานฟาร์มสีเขียวที่ว่านี้ เริ่มจากฟาร์มสุกรของซีพีเอฟ ที่แต่เดิมก็เป็นโรงเรือนเปิดดังเช่นที่เห็นอยู่ทั่วไป ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับกลิ่นเหม็นจากมูลสุกรและแมลงวันรบกวนทั้งตัวผู้ปฏิบัติงานเองและกระทบกับชุมชนใกล้เคียง จึงเป็นที่มาของการคิดค้นวิธีแก้ปัญหาและการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ นับตั้งแต่การปรับปรุงโรงเรือนสุกรให้เป็นโรงเรือนปิด เพื่อป้องกันแมลงและสัตว์อื่นเข้าไปรบกวน แต่ยังคงมีปัญหากลิ่นน้ำเสียและมูลสุกร จึงเกิดการพัฒนาแนวคิดในการทำระบบไบโอแก๊สเพื่อบำบัดของเสียจากมูลสุกรที่ทำให้ได้แก๊สธรรมชาติที่สามารถนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ลดการใช้ไฟได้มากกว่า 30 %

ซีพีเอฟคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์ ที่เรียกว่า “ส้วมน้ำ” ที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นในโรงเรือนสุกรได้เป็นอย่างดี โดยมองที่พฤติกรรมของสุกร ที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าจริงๆแล้วสุกรเป็นสัตว์สะอาด โดยมีการแบ่งที่กิน ที่นอน และที่ขับถ่ายอย่างชัดเจน แต่ในอดีตนั้นคนยังไม่รู้ จึงเข้าใจว่าสุกรสกปรกกิน-นอน-ถ่ายมูลในที่เดียวกัน เมื่อทำส้วมน้ำก็สามารถแก้ปัญหากลิ่นเหม็นจากมูลให้ลดลงได้ การเลี้ยงสุกรต้องใช้น้ำจำนวนมากประมาณ 50-55 ลิตรต่อวัน ส่วนแม่พันธุ์ใช้น้ำถึง 100 ลิตรต่อวัน น้ำในส้วมน้ำและน้ำที่เหลือจากการบริโภคนี้จะถูกระบายผ่านท่อน้ำทิ้ง เพื่อลงบ่อบำบัดที่เป็นบ่อซีเมนต์ปูพื้นด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันการซึมเอาไว้ที่ก้นบ่อ บ่อนี้จะถูกคลุมด้วยพลาสติกหนาเพื่อป้องกันกลิ่นและแมลงวัน แต่หลังจากการคลุมบ่อแล้วพบว่า มูลสุกรที่มีโปรตีนสูงมากเมื่อเกิดกระบวนการหมักทำให้เกิดแก๊สมีเทนขึ้น เราจึงติดตั้งท่อ เพื่อนำแก๊สมาปั่นเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือไบโอแก๊ส สำหรับใช้ในฟาร์ม ซึ่งถือเป็นประโยชน์เกินคาดหมายจากเดิม ที่ต้องลดเพียงกลิ่น และป้องกันแมลงวัน

ทั้งนี้เมื่อติดตั้งพลังงานไฟฟ้า พบว่าเครื่องปั่นไฟมีความร้อนบริเวณปล่องระบายความร้อน ซึ่งต้องลดความร้อนด้วยน้ำหล่อเลี้ยง น้ำดังกล่าวจึงมีอุณหภูมิสูง การระบายทิ้งต้องทำให้เย็นก่อน จึงต้องต่อท่อเข้าแท้งค์น้ำ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ระหว่างที่น้ำเดินทางไปหาแท้งค์นี้เอง ทางบริษัทได้เดิน ท่อผ่านห้องลูกสุกรที่ต้องการอุณหภูมิสูงอยู่แล้ว ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง

น้ำหลังจากการบำบัดที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ทางราชการกำหนดนั้น สามารถนำไปใช้รดต้นไม้ภายในบริเวณโรงงานซึ่งจะได้รับไนโตรเจนจากน้ำหลังบำบัด ที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นไม้ หรือใช้ล้างพื้น ประโยชน์ที่ได้จากน้ำนี้ ทำให้ฟาร์มต้องเร่งปลูกต้นไม้ ให้มากขึ้น และส่งผลให้ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟกลายเป็นรีสอร์ท ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในทำงาน ที่สำคัญเรายังนำน้ำนี้ไปผ่านการบำบัดอีกครั้งเพื่อใช้ล้างโรงเรือน ช่วยประหยัดน้ำในธรรมชาติ และทุกฟาร์มไม่ปล่อยน้ำเสียสู่แหล่งชุมชน 100 %

“หัวใจของมาตรฐานฟาร์มสีเขียว คือการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อลดผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของเราที่อาจมีต่อชุมชน ทำให้ฟาร์มเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง" น.สพ.ดำเนิน กล่าว

ความสำเร็จจากโครงการกรีนฟาร์มนี้ กำลังจะถูกต่อยอดไปยังฟาร์มสัตว์บกและสัตว์น้ำให้ครบทุกฟาร์ม ทั้งฟาร์มสุกรพ่อแม่พันธุ์ ฟาร์มสุกรขุน ฟาร์มไก่-เป็ดพันธุ์ โรงฟักไข่ไก่เป็ด ฟาร์มทดลองและวิจัย ฟาร์มไก่-เป็ด กระทง ฟาร์มไก่ไข่และศูนย์คัดไข่ไก่ โรงเพาะฟักลูกกุ้ง ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ศูนย์ปรับปรุงพันธุกรรมกุ้ง และฟาร์มเพาะพันธุ์และอนุบาลปลา ทั้งหมดนี้นับเป็นก้าวย่างสำคัญของผู้นำที่หากภาคเกษตรทั่วประเทศนำไปปรับประยุกต์ใช้กับกิจการของตนเอง ก็จะช่วยยกระดับภาคเกษตรของไทยสู่ เกษตรกรรมที่ยั่งยืนได้ไม่ยาก