สพฉ. หนุนให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลและการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ ไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED)

11 Sep 2013

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

สพฉ. หนุนให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลและการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ ไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) ในภาคประชาชน เลขาสพฉ. ระบุ เตรียมกระจายติดตั้งให้ 5 หน่วยงานเพื่อใช้ประโยชน์

การบาดเจ็บ เจ็บป่วยฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด ทั้งในฐานะผู้ประสบเหตุเอง หรือในฐานะไปพบเห็นเหตุการณ์ ซึ่งบางครั้งการบาดเจ็บอาจรุนแรงขึ้น หากเราช่วยเหลือไม่ถูกวิธี อีกทั้งบางครั้งอาการเจ็บป่วยบางประเภทก็ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ดังนั้นการเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะการมีทักษะความรู้ติดตัวจึงเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพบผู้ป่วยฉุกเฉินมีอาการโรคหัวใจ หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ การช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่บางครั้งสำหรับประชาชนทั่วไป การช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ยากหรือบางครั้งไม่กล้าช่วยเหลือ เพราะเกรงว่าจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการช่วยฟื้นคืนชีพอย่างเช่นการ CPR ดังนั้นการใช้เครื่องมืออัตโนมัติอย่างเช่น เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชนทั่วไป

ดังนั้น สพฉ. จึงจัดการประชุมหารือวาระพิเศษ เรื่อง การปฐมพยาบาลและการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ ไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) ในภาคประชาชน โดยมีตัวแทนจากบริษัท โซวิคร่วมมอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED)ให้สพฉ.และมีตัวแทนจากภาคประชาชนหลากหลายองค์กรเข้าร่วมประชุมเพื่อเรียนรู้การใช้เครื่อง AEDด้วย

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า การจัดงานขึ้นในครั้งนั้นก็เพื่อต้องการให้ภาคประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เครื่องใช้เครื่องกระตุกหัวใจ ไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ (AED) ซึ่งเครื่องมือชนิดนี้นั้นในต่างประเทศได้มีใช้กันอย่างแพร่หลายโดยจะมีการติดตั้งเครื่องไว้ในพื้นที่สาธารณะที่มีประชาชนสัญจรหรือเข้าไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก แต่สำหรับประเทศไทยนั้นยังถือเป็นเรื่องใหม่ด้วยเพราะตัวเครื่องที่มีราคาค่อนข้างแพง อย่างไรก็ตามหากมีการนำเครื่องกระตุกหัวใจ ไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) เข้ามาใช้ในประเทศไทยจะทำให้อัตราการเสียชีวิตของประชาชนจากกรณีที่หัวใจหยุดเต้นกระทันหันลดน้อยลงได้ เพราะเครื่อง AED จะเป็นตัวช่วยให้การฟื้นคืนชีพเบื้องต้นประชาชนที่หัวใจหยุดเต้นกะทันหันได้ .ทั้งนี้ สพฉ.จะทำการส่งมองเครื่อง AEDให้กับ5 หน่วยงานนำร่องเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เหล่านั้นนำไปใช้ช่วยชีวิตเบื้องต้นให้กับประชาชน ซึ่ง 5หน่วยงานที่จะได้รับมองเครื่อง AED นี้ประกอบด้วย บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ กรมแพทย์ทหารบก และสภากาชาดไทย

ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ระบุว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยที่หยุดหายใจกระทันกันรอดชีวิตคือ5 ขั้นตอนของห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต หรือ(Chain of Survival) ซึ่งมีดังนี้ 1.เรียกคนช่วยอย่างรวดเร็ว และรีบแจ้งสายด่วน1669 ให้รีบเข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที2.ในระหว่าที่รอเจ้าหน้าที่กู้ชีพเข้าให้การช่วยเหลือให้เริ่มปฏิบัติการช่วยชีวิตในทันที โดยการทำ CPR 3.เมื่อมีข้อบ่งชี้ให้การรักษาด้วยกระแสไฟฟ้าให้รวดเร็วที่สุด ภายใน 3-5นาที(Early Defibrillation) 4.ปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นสูงอย่างรวดเร็ว(Early ALS)และมีประสิทธิภาพ(ให้ยาช่วยชีวิตต่างๆ) 5.ให้การดูแลหลังจากCPR อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ

สำหรับเครื่อง automated external defibrillator, AEDหรือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติเป็นเครื่องมือที่ใช้ระบบปฏิบัติการแบบอิเล็กทรอนิกส์พกพา ซึ่งประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้เครื่องนี้ได้ โดยเมื่อมีการเปิดการใช้งานของเครื่องAED ก็จะสามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต และสามารถให้การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจได้โดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้องได้ โดยการรักษานั้นระบบอิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องจะออกคำสั่งให้เราเป็นผู้ปฏิบัติตามได้

-นท-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net