โรงพยาบาลแห่งอาเซียน(Asean Economics Community - AEC)

11 Sep 2013

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--โรงพยาบาลสิรินธร

ในปี 2558 ประเทศไทยและ อีก 9 ชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ (Asean Economics Community - AEC) ซึ่งคือการรวมตัวกันของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้า และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจระดับโลก รวมถึงมีการยกเว้นภาษีสินค้าบางชนิดให้กับประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง มั่นคง ประชาชนอยู่ดีกินดี ซึ่งทั้งรัฐบาลและเอกชนไทย ต่างเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ มาตรฐานของสถานประกอบการ ทั้งนี้เพื่อรับมือการแข่งขัน ที่จะยิ่งเข้มข้นตามตลาดที่ใหญ่ขึ้น

การบริการด้านสาธารณสุขเป็นบริการนำร่องที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ที่มีความพร้อม มีศักยภาพ ตลอดจนความรู้ ความสามารถของแพทย์ที่มีชื่อเสียงในด้านต่าง ๆ จำนวนมาก สำหรับศูนย์กลางด้านการให้บริการสาธารณสุข หรือ Medical hub เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพของนานาชาติ ในปี 2555-2559 เพื่อเป็นกรอบในการกำหนดรูปแบบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์บริการ สุขภาพทั่วประเทศ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอีกด้านหนึ่ง มีเป้าหมายหลัก 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การรักษาพยาบาล เช่น ทันตกรรม การรักษาโรคเฉพาะทาง การพำนักระยะยาว 2.การส่งเสริม สุขภาพ เช่น สปา นวดเพื่อสุขภาพ 3.ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพรไทยให้ได้มาตรฐานจีเอซีพี (GACP) ขององค์การอนามัยโลก และ 4.การเพิ่มผลผลิตด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกส่งเสริมให้จัดตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์ทางเลือกทุกภูมิภาค ให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนเปิดคลินิกแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาล

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสิรินธร เป็นอีกโรงพยาบาลนึงที่ต้องจับตามองเพราะอยู่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิมากที่สุด โรงพยาบาลสิรินธร สังกัดสำนักการแพทย์ ภายใต้การกำกับดูแลของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีตัวอาคารสถานที่พร้อมและสร้างเสร็จสมบูรณ์มาแล้วกว่าสิบปี รวมถึงที่ดินกว่าจำนวน 90 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังและอาคารผู้ป่วยเปิดใช้เพียง30%ที่เหลือยังมิได้เปิดใช้ เนื่องจากขาดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่แพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และจำนวนเตียงทำการรักษาไม่เพียงพอ ปัจจุบันมี 242 เตียง มีอัตราแพทย์และพยาบาล เพียงไม่ถึง 300 คน ซึ่งถือว่ายังไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก ตัวเลขในปีที่ผ่านมามีสถิติผู้มารับบริการเฉลี่ย3.4แสนคนต่อปีและจะมีมากขึ้นตามจำนวนประชากรฝั่งตะวันออกของกรุงเทพที่มีการขยายตัวของชุมชนเมือง และรวมถึงการรองรับกับประชาคมอาเซียนที่จะมีผู้คนจากกลุ่มสมาชิกอาเซียนและนักท่องเที่ยวจากทวีปอื่นๆ จำนวนมากที่จะหลั่งไหลเขามาในประเทศไทยโดยผ่านสนามบินสุวรรณภูมินี้ ก่อนจะถึงวันนั้นคงต้องช่วยกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันพิจารณาเร่งด่วนในการยกระดับคุณภาพและเพิ่มบุคลากรให้แก่โรงพยาบาลสิรินธรเป็นโรงพยาบาลขนาด 800 เตียง ที่จะบูรณาการการดูแลผู้ป่วยแบบครบวงจรอย่างสมบูรณ์แบบในการรักษาพยาบาล ป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพ และฟื้นฟูสมรรถภาพ ครอบคลุมมิติด้านร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์ และจิตวิญญาณ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพของนานาชาติ และให้สมกับเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้สนามบินนานาชาติอย่างสุวรรณภูมิมากที่สุด รวมถึงเป็นหน้าตาของประเทศไทยของเราอีกด้วย"

-กผ-