กรุงเทพฯ มหานครสีเขียว กับการจัดการขยะและน้ำเสียด้วยวิธี 3R

11 Sep 2013

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานคร เตรียมรับ AEC ก่อนปี 2558 ผุดเทคนิค 3 R เพื่อป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ว่าด้วยตามกรอบความร่วมมือที่มีเป้าหมายหลัก ให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุนอย่างเสรี ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้แหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติต่างๆ อย่างไม่เหมาะสม ประกอบกับเมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น กระแสของสังคมจะเน้นเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น กรุงเทพมหานครจึงเตรียมความพร้อมที่จะให้ทั้งภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจแบบ Green Business เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจโลก ในช่วงที่มีการเปิดประชาคมอาเซียน

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงมีนโยบายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างเมือง ด้วยการเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมกันสร้างกรุงเทพมหานครให้เจริญก้าวหน้า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามคำกล่าวที่ว่า “รักกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯ” โดยมี 6 นโยบายหลักคือ

1) มหานครแห่งความปลอดภัย

2) มหานครแห่งความสุข

3) มหานครสีเขียว

4) มหานครแห่งการเรียนรู้

5) มหานครแห่งโอกาสของทุกคน

6) มหานครแห่งอาเซียน

สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร จึงจัดทำโครงการ และกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนองนโยบาย มหานครสีเขียว (Green City) หรือเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หมายถึง เมืองที่ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมีประชากรที่ตระหนักถึงระบบนิเวศ และดำเนินชีวิตบนแนวคิดของความยั่งยืน เพื่อลดการพึ่งพาการใช้ทรัพยากร ทั้งพลังงาน อาหารและน้ำ รวมไปถึงเพื่อลดการปล่อยของเสียในระบบนิเวศ ทั้งในรูปของความร้อน และมลพิษต่างๆ ซึ่งจะทำให้เป็นเมืองที่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรจากพื้นที่ภายนอก สามารถสร้างพลังงานได้เองจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ โดยมีหลักการสำคัญในการลดขนาดรอยเท้านิเวศ (ecological footprint) และลดการปล่อยมลพิษให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ วางแผนการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติ ลดปริมาณของเสียด้วยกระบวนการรีไซเคิลหรือแปลงของเสียเป็นพลังงาน และลดการเป็นสาเหตุของการสร้างสภาวะโลกร้อนในภาพรวม

โดยได้กำหนดโยบายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการขยะโดยนำผลจากการระดมความคิดเห็นในเวทีต่างๆ รวมถึงการจัดทำแผนวิสัยทัศน์กรุงเทพมหานคร 20 ปี โดยมีนโยบายให้จัดการขยะเป็นการจัดการทรัพยากร ลดปริมาณมูลฝอยที่แหล่งกำเนิด จัดเก็บและกำจัดแยกประเภทโดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญการลด และคัดแยกที่แหล่งกำเนิด ซึ่งเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด หากทุกหมู่บ้านทุกชุมชน ทุกสถานประกอบการ ทุกสถานศึกษา และทุกองค์กรตระหนักถังปัญหาการจัดการขยะและเห็นคุณค่าของขยะในแง่ของทรัพยากร และคัดแยกมูลฝอยนำกลับไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจังตามหลักการ 3R จะทำให้ขยะลดลงได้อีกมากกว่าร้อยละ 40 โดยข้อมูลจากสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลกรุงเทพมหานคร รายงานผลการดำเนินการโครงการจัดการมูลฝอยโดยชุมชนในชุมชนนำร่องซึ่งประกอบด้วยชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการ และตลาด จำนวน 314 แห่ง สามารถลดปริมาณขยะได้ถึงร้อยละ 40 โดยมีบางชุมชนลดปริมาณขยะโดยคัดแยกขยะไปใช้ประโยชน์ได้ถึงร้อยละ 90 เช่น ชุมชนเกตุไพเราะ เพราะมีการคัดแยกขยะอื่นหรือขยะทั่วไปที่รีไซเคิลไม่ได้แต่เผาไหม้ได้นำส่งโรงงานปูนซีเมนต์เพื่อทำเชื้อเพลิงในโรงงานปูนซีเมนต์ด้วย ดังนั้นผู้บริหารกรุงเทพมหานครจึงมีนโยบายให้ขยายผลแนวคิดการจัดการมูลฝอยไปยังชุมชนต่างๆในกรุงเทพมหานครที่มีนับหมื่นชุมชน โดยมีเป้าหมายลดสัดส่วนของปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ต่อประชากร จาก 0.98 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ในปี 2555 ให้เหลือ 0.8 กิโลกรัมต่อคนต่อวันในปี 2563

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้นำมาตรการ 3R ไปใช้ในหลายโครงการ อาทิ โครงการเพื่อจัดการขยะและน้ำเสียชุมชนด้วยชุมชน ภายใต้แนวคิด “Bangkok Green Community” โดยดำเนินการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ ในแต่ละย่านคลอง ซึ่งจะเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี Zero Waste เปลี่ยนขยะเป็นทุน Biogas การแปรรูปขยะอินทรีย์ และเศษอาหารเป็นพลังงานทดแทน กิจกรรมคลองสวยน้ำใส บำบัดก่อนทิ้ง โดยการนำหลักการ 3R + MEN ประกอบด้วย Reduce= ลดการใช้ Reuse = การใช้ซ้ำ Recycle = การแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ M=Money รายได้ที่เพิ่มขึ้น E=Environment สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น N=Network ซึ่งหลัก 3 R ประกอบด้วย

R : Reduce ลดการใช้ ลดการบริโภคทรัพยากรที่ไม่จำเป็นลง โดยเฉพาะการบริโภคทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และแร่ธาตุต่างๆ การลดการใช้นี้ ทำได้ง่ายๆ โดยเลือกใช้เท่าที่จำเป็น เช่น ปิดไฟทุกครั้งที่ไม่ใช้งานหรือเปิดเฉพาะจุดที่ใช้งาน ปิดคอมพิวเตอร์และเครื่องปรับอากาศเมื่อไม่ใช้เป็นเวลานานๆ ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น กระติกน้ำร้อนเมื่อไม่ได้ใช้ เมื่อต้องเดินทางใกล้ๆ ก็ใช้วิธีเดิน ขี่จักรยาน หรือนั่งรถโดยสารแทนการขับรถไปเอง เป็นต้น

R : Reuse คือ การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด โดยการนำสิ่งของเครื่องใช้มาใช้ซ้ำ ซึ่งบางอย่างอาจใช้ซ้ำได้หลาย ครั้ง เช่น การนำกระดาษรายงานที่เขียนแล้ว 1 หน้า มาใช้ในหน้าที่เหลือหรืออาจนำมาทำเป็นกระดาษโน้ต ช่วยลดปริมาณการตัดต้นไม้ได้เป็นจำนวนมาก การนำขวดแก้วมาใส่น้ำรับประทานหรือนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ต่างๆ เช่นแจกันดอกไม้หรือที่ใส่ดินสอ เป็นต้น นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดการใช้พลังงานพลังงานแล้ว ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัว

R : Recycle คือ การนำหรือเลือกใช้ทรัพยากรที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นการลดการใช้ทรัพยากรในธรรมชาติจำพวกต้นไม้ แร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ทราย เหล็ก อลูมิเนียม ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ สามารถนำมารีไซเคิลได้ยกตัวอย่างเช่น เศษกระดาษสามารถนำไปรีไซเคิลกลับมาใช้เป็นกล่องหรือถุงกระดาษ การนำแก้วหรือพลาสติกมาหลอมใช้ใหม่เป็นขวด ภาชนะใส่ของ หรือเครื่องใช้อื่นๆ ฝากระป๋องน้ำอัดลมก็สามารถนำมาหลอมใช้ใหม่

“ปัญหาขยะและน้ำเน่าเสียในชุมชนนั้น เป็นปัญหาที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดและกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการและแก้ไขปัญหาร่วมกัน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและสุขภาวะอนามัยของประชาชน โครงการนี้จึงเป็น 1 ใน 10 มาตรการเร่งด่วนที่ได้เริ่มต้นทำทันที เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายร่วมสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครสีเขียวและสะอาดที่มีความน่าอยู่ทั้งในมิติด้านความปลอดภัยในชีวิตและด้านสิ่งแวดล้อมที่สะอาดเหมาะสมกับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอันเป็นรากฐานสำคัญของมหานครน่าอยู่อย่างยั่งยืน”

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net