กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับบลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์แนวทางลดต้นทุนแก๊สLPG แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในภาวะแก๊สLPGราคาสูงขึ้น เปิดตัวอย่างโรงงานที่ประสบผลสำเร็จในการผลิต ลดปริมาณการใช้แก๊สรวมได้กว่า 50% ด้วยการใช้นวัตกรรมในการผลิต อาทิ Gas saver อุปกรณ์ที่ช่วยลดการสิ้นเปลืองของแก๊ส LPG เครื่องพ่นสีนวัตกรรมใหม่เพื่อให้ประหยัดเวลาในการทำงานและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 50% เทคนิคการใช้สีพ่นชนิดใหม่ที่แห้งเร็วและใช้อุณหภูมิในการอบสีต่ำลง รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบกระบวนการผลิตให้ใช้พลังงานเชื้อเพลิงหรือแก๊ส LPG อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่มีการใช้แก๊ส LPG เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้า ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ โดยอุตสาหกรรมสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 19% ปัจจุบันปัญหาเชื้อเพลิงราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุน การผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น 2-5% ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการดำเนินอุตสาหกรรม รวมถึงให้คำแนะนำในการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนในทุกๆด้านให้มีประสิทธิภาพ ผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงผ่านโครงการการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม (Total Energy Management : TEM ) ซึ่งมีผลทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้กว่า 50%
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs หรือประชาชนทั่วไป สามารถเข้ารับบริการของ กสอ. ได้ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทรศัพท์ 0 2367 8195 หรือ www.dip.go.th
นายโสภณ ผลประสิทธิ์อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัญหาด้านพลังงานเชื้อเพลิงราคาสูงขึ้น ถือเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมขนาดกลางและ ขนาดย่อมที่มีการใช้ปริมาณพลังงานเชื้อเพลิงเป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิต ซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นโดยพลังงานเชื้อเพลิงที่ภาคอุตสาหกรรมใช้ส่วนใหญ่ คือ แก๊สปิโตรเลียมเหลว หรือ แก๊ส LPG (Liquefied Petroleum Gas7)หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าแก๊สหุงต้ม ซึ่งเป็นแก๊สที่นิยมใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนและกิจการอุตสาหกรรมเนื่องจากมีราคาถูกกว่าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิตจะมีการใช้แก๊ส LPG เกินกว่า 100 กิโลกรัมต่อวัน และเมื่อแก๊ส LPG มีราคาสูงขึ้นตามนโยบายราคาลอยตัวของภาครัฐ จึงส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ โดยราคาของแก๊สLPG สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เป็นราคาที่อ้างอิงกับตลาดโลกที่ 28.07 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกเดือน แต่ยังคงควบคุมราคาไว้ให้ไม่เกิน 30.13 บาทต่อกิโลกรัมดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่มีการใช้แก๊ส LPG เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้า ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ โดยอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศไทยเป็นลำดับแรกและได้รับผลกระทบต่อการขึ้นราคาของแก๊ส LPG คือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
นายโสภณ กล่าวต่อว่าประเทศไทยมีการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ด้วยมูลค่าการส่งออก45,007.83ล้านเหรียญสหรัฐ (ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร) หรือคิดเป็น 19.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดซึ่งสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตในประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศที่มีตัวเลขมูลค่าการผลิตเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30% ต่อปี ตามปริมาณความต้องการสินค้าตามฤดูกาลของผู้บริโภค(ที่มา : สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ : EEI ) และจากข้อมูลปี 2556 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รายเล็ก 1,359 รายและส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของผู้ประกอบการที่ถือสัญชาติไทยกว่า 90 %อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์แก๊ส LPG ราคาสูงขึ้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงให้คำแนะนำในการพัฒนากระบวนการผลิตที่ใช้แก๊ส LPG ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย
ด้าน นายสมยศ กีรติชีวนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิทไว้ส์ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่าบริษัท บิทไว้ส์ (ประเทศไทย) จำกัดได้ดำเนินการผลิตเครื่องปรับอากาศภายใต้แบรนด์ทาซากิ (Tasaki) รวมถึงการทำหน้าที่เป็น OEM (Original Equipment Manufacturer) หรือการรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ตามแบบที่ลูกค้ากำหนดและ ODM (Original Design Manufacturer) หรือการผลิตที่มีการพัฒนารูปแบบสินค้าเองและนำสินค้าเหล่านั้นไปเสนอขายให้กับลูกค้า ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ด้วยดีไซน์โดยบริษัทฯ ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังตลาดทั่วโลกทั้งตลาดอาเซียน เอเชีย ออสเตรเลียยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้กว่า 50% และอีก 30% เป็นของ ODM ภายในประเทศและผลิตภายใต้แบรนด์ Tasaki 20%ทั้งนี้ในกระบวนการผลิตที่มีการใช้แก๊ส LPG คือ กระบวนการพ่นสีและอบสี และกระบวนการเชื่อมท่อทองแดงที่เป็นส่วนประกอบหลักของเครื่องปรับอากาศทำให้อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาของแก๊ส LPG
นายสมยศ กล่าวถึงแนวทางการพัฒนากระบวนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงหรือแก๊ส LPG ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดว่า บริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการให้คำปรึกษา และแนวทางในการปรับปรุงโรงงาน เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงกระบวนการผลิต ให้มีประสิทธิภาพผ่าน 2 ขั้นตอนการผลิตที่ใช้แก๊ส LPG มากที่สุด ดังนี้
1. ส่วนของการพ่นสีและอบสี ได้มีการปรับปรุงรูปแบบเครื่องจักรที่จากเดิมสามารถพ่นและอบสีส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศได้เพียง 1 ชิ้นต่อครั้งให้เพิ่มเป็น 2-4 ชิ้นต่อครั้ง ทำให้ประหยัดเวลาในกระบวนการดังกล่าวได้ถึง 50-75% โดยเฉพาะกระบวนการอบสี ที่ต้องใช้ความร้อนจากพลังงานเชื้อเพลิงในปริมาณมาก รวมถึงการเปลี่ยนวัสดุสีที่ใช้ในการพ่นให้มีคุณสมบัติแห้งเร็วขึ้น ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าเดิม จาก 200 องศาเซลเซียสเป็น 180 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้สามารถประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงแก๊ส LPGได้ถึง 20%นอกจากนี้ในกระบวนการล้างไขมันที่เดิมต้องใช้พลังงานในการอุ่นสารเคมีสำหรับล้างให้ได้ 60 องศาเซลเซียส เป็นสารที่เป็น BIO TECHNOLOGY เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องใช้พลังงาน และไม่มีของเสียจากกระบวนการ ทั้งนี้เมื่อรวมการปรับปรุงทั้งสามอย่างเข้าด้วยกัน ทำให้บริษัทสามารถลดการใช้ LPG ได้ถึง 50%
2. ส่วนของกระบวนการเชื่อมท่อทองแดง บริษัทฯ ได้ใช้นวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า Gas Saver หรืออุปกรณ์ช่วยประหยัดแก๊สที่นำไปติดตั้งในกระบวนการเชื่อมท่อทั้งหมด ซึ่งอุปกรณ์ชนิดนี้จะช่วยการลดการสูญเสียพลังงานระหว่างการรอคอยในกระบวนการ และช่วยให้ไฟจุดติดได้เร็วขึ้นเมื่อเริ่มใช้งานใหม่อีกครั้ง ทำให้ประหยัดแก๊ส LPG ได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงการพัฒนากระบวนการเชื่อมท่อทองแดงให้มีการใช้แก๊ส LPG อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจากเดิมช่างเชื่อม 1 คนทำหน้าที่ทั้งการประกอบและเชื่อม ทำให้ต้องสูญเสียพลังงานเชื้อเพลิงระหว่างพักประกอบท่อไปอย่างไร้ประโยชน์ ดังนั้นบริษัทฯ จึงได้พัฒนากระบวนการประกอบและเชื่อมท่ออย่างต่อเนื่อง โดยใช้เทคนิค “โต๊ะหมุน” ทำให้ลดการสูญเสียพลังงานเชื้อเพลิงไปโดยเปล่าประโยชน์ได้
อย่างไรก็ตามนอกจากการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตในส่วนของการพ่นและอบสี และการเชื่อมท่อทองแดง ที่ใช้แก๊ส LPG แล้ว บริษัทยังได้มีการพัฒนากระบวนการ การผลิตให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการให้คำปรึกษาจากโครงการ MDICP, EDIPP, HCMEจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนโดยรวม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน คุณสมยศกล่าว
สำหรับปัญหาทางด้านพลังงานเชื้อเพลิงราคาสูงขึ้นนี้ ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มีการจัดตั้งโครงการที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านการจัดการพลังงาน และด้านการจัดการผลิตให้มีประสิทธิภาพ อาทิ โครงการการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม (Total Energy Management : TEM ) ซึ่งเป็นโครงการ ที่มุ่งเน้นงานด้านพลังงานโดยตรง โดยในภาวะที่ต้นทุนทางด้านพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้บริษัททุกแห่งต้องหาแนวทางในการลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงหรือใช้พลังงานเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด ผ่านแนวทางการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 4 ขั้น ได้แก่ 1. Cost/Energy Focus เน้นที่การปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการประหยัดพลังงาน 2. การกำหนดนโยบาย แผนงานและแผนงานปฏิบัติในด้านพลังงาน 3. Product/Process Improvement โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Optimization of Resource Usage) 4. Total Involvement ทุกคนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างด้านการจัดการพลังงาน นอกจากนี้ กสอ.ยังมีโครงการเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ ด้วยการลดต้นทุนในด้านอื่นๆ แทนต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP Standard)โครงการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มผลิตภาพอย่างมีนวัตกรรม (Entrepreneurs Development for Innovative Productivity Programme : EDIPP) เป็นต้น ทั้งนี้หากผู้ประกอบการได้นำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนโดยรวมและสร้างผลกำไรได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น นายโสภณ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs หรือประชาชนทั่วไป สามารถเข้ารับบริการของ กสอ. ได้ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทรศัพท์ 0 2202 4414 – 18 หรือ www.dip.go.th
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4414 – 18-นท-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit