กรุงเทพธุรกิจ-ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจซีอีโอเดือนส.ค.-ก.ย. ดัชนีเศรษฐกิจติดลบครั้งแรก

10 Sep 2013

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย

กรุงเทพธุรกิจ-ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจ CEO Sentiment Index เดือน ส.ค.-ก.ย. พบความเชื่อมั่นของผู้บริหารลดต่อเนื่อง ส่งผลดัชนีเศรษฐกิจติดลบครั้งแรก จากปัญหาเศรษฐกิจไทยชะลอตัว

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) สำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัทจำนวน 403 คน ระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม ถึง 2 กันยายน 2556 เกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจและธุรกิจ พบว่า ดัชนีทางเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมมีค่า -2 และคาดว่าจะมีค่า -1 ในเดือนกันยายนนี้ การที่ดัชนีเศรษฐกิจมีค่าติดลบเป็นครั้งแรก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (เมษายน-สิงหาคม) ดัชนีทางเศรษฐกิจก็ได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

ความต้องการลด กระทบธุรกิจ

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจในเดือนสิงหาคม-กันยายน 5 อันดับแรกได้แก่ สภาพเศรษฐกิจไทย ได้ 4.5 คะแนน ความต้องการของตลาดที่ลดลง ได้ 4.5 คะแนน ต้นทุนค่าขนส่งและพลังงาน ได้ 4.3 คะแนน สภาพเศรษฐกิจโลก ได้ 4.1 คะแนน การขาดแคลนแหล่งเงินทุน 3.9 คะแนน

ดัชนีรายได้เริ่มติดลบ

ส่วนดัชนีการทำธุรกิจซึ่งมี 4 ด้านด้วยกัน คือ ดัชนีด้านรายได้ ดัชนีด้านต้นทุน ดัชนีด้านสภาพคล่อง และดัชนีด้านการจ้างงานนั้น พบว่า ดัชนีด้านรายได้ในเดือนสิงหาคมมีค่า -4 และคาดว่าจะปรับลดลงเป็น -2 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาค่าครองชีพที่กระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน ดัชนีด้านต้นทุนปรับลดลงเล็กน้อยเป็น 52 จุด และคาดว่าจะปรับลดลงเป็น 50 จุดในเดือนกันยายน ดัชนีสภาพคล่องยังคงมีค่าติดลบและมีแนวโน้มที่จะติดลบต่อไป โดยมีค่า -1 ในเดือนสิงหาคม และคาดว่าจะลดลงเป็น -4 ในเดือนกันยายน ส่วนดัชนีการจ้างงานในเดือนสิงหาคมมีค่า 1 จุดและคาดว่าจะปรับลดลงเป็น -1 จุดในเดือนต่อไป เป็นสัญญาณว่า การจ้างงานมีแนวโน้มจะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและผลประกอบการ

สำหรับผลการสำรวจในเดือนสิงหาคม แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น จนส่งผลต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของประชาชน และทำให้ความต้องการในตลาดลดลง ขณะที่การปรับราคาพลังงานในเดือนกันยายนมีแนวโน้มส่งผลต่อต้นทุนการผลิตทั้งทางตรงและทางอ้อม และจะทำให้ปัญหาสภาพคล่องมีความรุนแรงขึ้น

“ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อบรรเทาปัญหาการทำธุรกิจ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการทำธุรกิจในช่วงนี้ และหากภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ยังคงขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ปัญหาค่าครองชีพไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกจุด อาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นที่นักธุรกิจมีต่อเศรษฐกิจไทย และแนวโน้มผลประกอบการในเดือนต่อๆ ไปให้ลดลงกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้” ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าว -กภ-