กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--ไอแอมพีอาร์
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จับมือโรงพยาบาลมนารมย์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้พิพากษาสมทบ นำหลักจิตวิทยา ‘ซาเทียร์’ ร่วมขับเคลื่อนระบบ ‘ให้คำปรึกษา-การจัดกิจกรรม’ เพื่อแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิดอย่างเข้าถึงและเข้าใจ และเกิดประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ร่วมกับ โรงพยาบาลมนารมย์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “เทคนิคการใช้จิตวิทยาในการให้คำปรึกษาแนะนำ และ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก เยาวชนและครอบครัว” ภายใต้กิจกรรม “เสริมสร้างพลังใจเพื่อสังคม” ที่จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 7 ปีโรงพยาบาลมนารมย์ โดยจัดอบรมให้แก่ผู้พิพากษาสมทบ ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นแกนนำการจัดกิจกรรมบำบัดแก่เด็กและเยาวชน เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการดูแลบำบัดช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดไม่ให้กระทำความผิดซ้ำและกลับมาเป็นคนดีของสังคมได้อีกครั้ง ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เป็นประธานเปิดงาน โดยมี ผศ.พญ.วรลักษณา ธีราโมกข์ ผู้อำนวยการฝ่ายคลินิก โรงพยาบาลมนารมย์ ร่วมเป็นวิทยากรอบรม ณ โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันศาลเยาวชนฯ มีการจัดกิจกรรมแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิดหลายรูปแบบตามสาเหตุและสภาพปัญหาของเด็กแต่ละราย เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสทบทวนและพัฒนาตนเองให้มีอนาคตที่ดีเป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม เช่น กิจกรรมค่ายครอบครัวสัมพันธ์ ค่ายคุณธรรมจริยธรรม ค่ายบรรพชาสามเณร ค่ายทหาร ฯลฯ โดยมีผู้พิพากษาสมทบซึ่งมาจากหลายสาขาอาชีพ อุทิศตนมาร่วมให้คำปรึกษาและเป็นแกนนำกิจกรรมให้แก่เด็ก โดยใช้ทรัพยากรด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่หลากหลายเป็นสื่อช่วยกล่อมเกลาเด็กให้กลับมาเป็นคนดีของสังคมได้
“การพัฒนาทักษะชั้นสูงด้านจิตวิทยาบำบัด จะช่วยให้ผู้พิพากษาสมทบมีสติรู้เท่าทันความคิดและจิตใจของตนเอง ช่วยให้เกิดความมั่นคงและความสงบภายใน มีการยอมรับผู้อื่นอย่างแท้จริง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้ทราบสาเหตุการกระทำผิดที่แท้จริงได้ นำไปสู่การกำหนดวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง รวมถึงออกแบบกิจกรรมบำบัดอย่างเหมาะสม นับเป็นการพลิกโฉมของการแก้ไขฟื้นฟูเด็กผู้กระทำผิดครั้งใหญ่ เพราะวิธีการช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมดีขึ้น ต้องปรับที่วิธีคิด ทัศนคติ และจิตใจของเด็ก ไม่ใช่การใช้กฎหมายขู่เด็กไม่ให้ทำผิดเหมือนในอดีตที่ผ่านมา” อธิบดีผู้พิพากษาฯ กล่าว
ด้าน ผศ.พญ.วรลักษณา ธีราโมกข์ ผู้อำนวยการฝ่ายคลินิก โรงพยาบาลมนารมย์ วิทยากรผู้ให้การอบรม กล่าวว่า การเข้าใจเหตุปัจจัยพื้นฐานของจิตใจมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้พิพากษาสมทบมีแนวทางในการนำไปจัดกิจกรรมให้กับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด
“จากความเชื่อที่ว่าพื้นฐานมนุษย์ทุกคนเป็นคนดี และมนุษย์ทุกคนต้องการการอยู่รอด การที่มนุษย์เลือกทำในสิ่งที่ผิดนั้น เพื่อให้ตนเองมีชีวิตอยู่รอดในสังคม ในปัจจุบันที่มีกฎหมายใหม่ออกมาเพื่อให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่ผิดพลาดสามารถกลับคืนสู่สังคมได้ โดยผ่านกระบวนการให้คำปรึกษาและกิจกรรมของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หากผู้พิพากษาสมทบที่เป็นแกนนำการจัดกิจกรรมมีมุมมองที่เข้าใจถึงความปรารถนาที่แท้จริงของเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด ค้นพบจุดดีในตัวเด็กพร้อมกับนำเอาหลักความเชื่อที่ว่าพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนเป็นคนดีนั้นไปพัฒนากิจกรรมสำหรับเด็ก เยาวชนและผู้ปกครองเพื่อช่วยให้เขาปรับความคิด ทัศนคติ เสนอทางเลือกอื่นๆ ที่เขาสามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องกระทำความผิดซ้ำ และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข” ผอ.ฝ่ายคลินิก รพ.มนารมย์สรุป
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit