นิทรรศการ"ตีท้ายครัว" โดยตะวัน วัตุยา

18 Sep 2013

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--หอศิลปวิทยนิทรรศน์

ตีท้ายครัว

ศิลปิน: ตะวัน วัตุยา

ภัณฑารักษ์: Myrtille Tibayrenc

ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รายละเอียดวันและเวลา

16 กันยายน – 8 ตุลาคม 2556: เปิดหอศิลปฯ เป็นสตูดิโอวาดรูป (**เฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นแบบวาดรูปและสื่อมวลชน)

10 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2556: การแสดงนิทรรศการสำหรับสาธารณชน

วันที่อังคารที่ 10 ตุลาคม 2556

การบรรยายโดยศิลปิน เวลา 17.30-18.30 น.

พิธีเปิดนิทรรศการ เวลา 18.30-20.30 น.

จากชื่อเสียงเทคนิคการใช้สีน้ำอันมีเอกลักษณ์และหัวข้องานที่กระตุ้นต่อมความคิด ตะวัน วัตุยา ได้รับการยอมรับว่าเป็นจิตรกรที่มีความสำคัญที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเรื่องการเมือง เพศสภาพ หรืออัตลักษณ์ ศิลปินประสบความสำเร็จในการนำเสนอประเด็นต้องห้ามต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทย ตลอดเวลาการทำงานที่ผ่านมา ตะวันได้เขียนรูปคนจากแบบจริงน้อยชิ้นมาก รูปส่วนใหญ่ได้แบบมาจากภาพที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ตและหน้านิตยสารทั้งเก่าและใหม่ แต่ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่การเขียนรูปคนจากแบบจริงจะกลายมาเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการทำงานในโครงการชุดล่าสุดที่ใช้ชื่อว่า “ตีท้ายครัว”

การที่ตะวันได้เขียนรูปการรวมกลุ่มคนในแบบต่าง ๆ มาสักพักใหญ่ ๆ ทั้งรูปผู้ประกวดนางงาม แก๊งเด็กวัยรุ่น ลูกเสือและเนตรนารี นักเรียนนักศึกษา หรือแม้แต่ทีมนักฟุตบอล จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตะวันจะหันกลับมาสนใจกลุ่มสังคมที่เกี่ยวพันกับตนเองโดยตรง นั่นก็คือเหล่าผู้คนในวงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศ จากแรงบันดาลใจที่ได้จากภาพเขียนรูปครอบครัวที่มีให้เห็นกันมาตลอดประวัติศาสตร์วงการศิลปะ ครั้งนี้ตะวันจะเขียนภาพขนาดใหญ่เพื่อจำลองวงการศิลปะของไทย คล้าย ๆ กับผลงาน SUPER(M)ART Bangkok Survivors (ปี 2547) ของนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ซึ่งเป็นภาพศิลปินและภัณฑารักษ์ที่มีชื่อเสียงที่อัดแน่นกันอยู่ในเฟรมแบบรูปของ Paolo Veronese ศิลปินจะวาดภาพสีน้ำขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ทำงานในวงการศิลปะร่วมสมัยของกรุงเทพฯ โดยจะสอดแทรกการวิจารณ์อย่างขบขัน จากการใช้รูปแบบการทำงานและหัวข้อที่เป็นคลาสสิค ศิลปินท้าทายประวัติศาสตร์ศิลปะที่มีมานานเกี่ยวกับภาพเหมือนครอบครัว สาทิศลักษณ์ของพระราชวงศ์ และภาพกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญทางศาสนา เช่น ครอบครัวของพระเยซูและนักบุญต่าง ๆ โครงการศิลปะ “ตีท้ายครัว” ประกอบไปด้วยงานในสองส่วน ส่วนแรกจะเป็นการเชิญบุคคลในวงการศิลปะเพื่อมาวาดรูป (16 ก.ย. – 8 ต.ค.) และเปิดให้เฉพาะผู้ที่ได้รับคำเชิญ ซึ่งในระหว่างนี้ หอศิลปฯ จะถูกแปลงสภาพให้เป็นสตูดิโอของศิลปิน เป็นการเปลี่ยนบริบทของการแสดงงานในหอศิลป์และขยายความเป็นไปได้ของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับศิลปิน โครงการในช่วงนี้จะทำลายกำแพงอันเปราะบางที่กั้นระหว่างผู้ชมและผู้ร่วมงาน โดยเชื้อเชิญให้ผู้มาชมงานมามีปฏิสัมพันธ์กับศิลปิน ช่วงที่สองของงาน จะเป็นการแสดงผลงานให้กับสาธารณชนทั่วไป (10 ต.ค. – 1 พ.ย.) โดยแสดงภาพผลงานที่แล้วเสร็จในบรรยากาศของสตูดิโอศิลปินที่ไม่ได้รับการแตะต้องหรือจัดให้เรียบร้อย ส่วนภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในสตูดิโอก่อนหน้านั้นจะถูกบันทึกเป็นภาพ time lapse และจัดแสดงตลอดช่วงแสดงผลงานสำหรับสาธารณชน

ชื่อนิทรรศการ “ตีท้ายครัว” เป็นคำกล่าวในภาษาไทยที่มีความหมายว่า “การผูกมิตรกับภรรยาหรือครอบครัวของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัว” ชื่อนิทรรศการจะช่วยเพิ่มความคลุมเครือ (อย่างขบขัน) ให้กับความสัมพันธ์ที่เหล่าศิลปิน ภัณฑารักษ์ นักสะสมงาน และบุคคลผู้มีอิทธิพลในวงการศิลปะมีต่อกัน

ตีท้ายครัว ได้รับการสนับสนุนโดย Tang Contemporary Art และ Toot Yung Art Center

Myrtille Tibayrenc เป็นภัณฑารักษ์ชาวฝรั่งเศสที่พำนักอยู่ในกรุงเทพ และเป็นผู้อำนวยการของ Toot Yung Art Center เธอทำงานในประเทศไทยมาเป็นเวลาห้าปี โดยจัดนิทรรศการให้กับศิลปินที่มีชื่อเสียงของไทยและต่างประเทศที่หอศิลป์ในกรุงเทพและยุโรป

ติดต่อ:

หอศิลปวิทยนิทรรศน์

ชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพ 10330

โทรศัพท์: 02-218-2965 โทรสาร: 02-218-2907

อีเมล์: [email protected]

www.car.chula.ac.th/art

Facebook: The Art Center - Chula

เปิดทำการ จันทร์-ศุกร์: 9.00-19.00 น. เสาร์: 9.00-16.00 น.

ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net